หมีขาว หรือ (Polar Bear) พวกเราอาศัยอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ หรือที่เรียกกันว่า “อาร์กติก” (Arctic) ดินแดนที่มีความหนาวเย็นและมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ไม่มากนัก พวกเราอาศัยอยู่กันมานานหลายร้อยปีแล้ว แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ พวกเรากำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์ พวกเราจึงอยากเล่าให้ทุกคนฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเรา และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นกำลังเป็นสัญญาณเตือนให้มนุษย์รู้ถึงความจริงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากน้ำแข็งที่บ้านของพวกเรา กำลังละลายอย่างรวดเร็ว ลองมาฟังกันดูนะครับ
โลก Earth: the blue planet เป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยมีทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิตอาศัยอยู่ เกิดขึ้นมานานกว่า 4,500 ล้านปีมาแล้ว โดยพื้นที่ที่หนาวเย็นที่สุดอยู่ที่ขั้วโลกใต้ (แอนตาร์กติกา) และรองลงมาคือขั้วโลกเหนือ (อาร์กติก) พื้นที่สองแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีน้ำแข็งปกคลุมตลอดทั้งปี จึงถือเป็นดินแดนที่มีความอ่อนไหวจากอุณหภูมิที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นจึงทำให้บ้านของพวกเราที่เคยเป็นน้ำแข็งเกิดการละลายอย่างรวดเร็ว ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะ (National Snow and Ice Data Center – NSIDC) พบว่าขนาดทะเลน้ำแข็งขั้วโลกในแถบอาร์กติกมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ โดยมีขนาดต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของช่วงปี 1981-2010 ถึง 5.7% ขณะที่ขนาดทะเลน้ำแข็งในแอนตาร์กติกเล็กว่าระดับเฉลี่ย 21.6% ซึ่งเป็นขนาดเล็กสุดเป็นสถิติใหม่เดือนมีนาคม 2562
แล้วทุกคนรู้ไหมครับ ทำไมบ้านของพวกเราที่อาร์กติกจึงมีความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนมาก ก็เพราะบ้านของพวกเรามีผืนน้ำแข็งที่มีความหนาเฉลี่ยไม่ถึง 10 ฟุต ในขณะที่ผืนน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกานั้นหนาถึง 10,000 ฟุต บ้านของพวกเรายังเป็นมหาสมุทรที่มีแผ่นดินโอบล้อม โดยน้ำแข็งที่ปกคลุมแผ่นดินนี้เปรียบเหมือนกระจกเงาบานยักษ์ที่สะท้อนความร้อนของดวงอาทิตย์ เมื่อน้ำแข็งสะท้อนความร้อนออกมา แล้วน้ำทะเลดูดซับความร้อนนี้ไว้ น้ำทะเลจึงอุ่นขึ้น และไปละลายขอบของน้ำแข็งให้ละลายเร็วขึ้น และเร็วขึ้น โดยมีข้อมูลจากดาวเทียมระบบ AIRS (Atmospheric Infrared Sounder) ได้ยืนยันว่า อุณหภูมิของทะเลบริเวณขั้วโลกเหนือ คือ อุณหภูมิพื้นผิวทะเลบาเรนท์และทะเลคารา เพิ่มสูงขึ้น 2.5 องศาเซลเซียส ในทุก 10 ปี ซึ่งถือเป็นสัญญาน ที่บอกว่า โลกใบนี้ อาจจะร้อนขึ้นเร็วกว่าที่ทุกคนคาดคิด
พวกเราหมีขาวเป็นสัตว์กินเนื้อบนพื้นดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ขั้วโลกเหนือ น้ำหนักตัวประมาณ 350 - 600 กิโลกรัม ด้วยน้ำหนักและขนาดของตัวที่ใหญ่โตนี้ พวกเราต้องหาอาหารให้ได้อย่างน้อย 2 ใน 3 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการตลอดทั้งปี พวกเราจึงใช้เวลามากกว่า 50% ในการหาอาหารล่าเหยื่อโดยการหลบซ่อนตัวตามก้อนหิน หรือ น้ำแข็ง และย่องเข้าไปเงียบๆ เพื่อล่าแมวน้ำ หรือ วอลรัสเป็นอาหาร แต่เมื่อแผ่นน้ำแข็งละลาย และบางลง กลายเป็นแพน้ำแข็งแผ่นเล็ก ๆ ซึ่งไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับฝีเท้าของพวกเราได้ ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารเริ่มหายไป การหาอาหารของพวกเราจึงลำบากมากขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อน้ำแข็งละลายมากขึ้น ระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตในอาร์กติกก็กำลังได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากในผืนน้ำแข็งยังเป็นที่เจริญเติบโตของสาหร่ายหลากหลายชนิดที่เป็นอาหารของแพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์ในทะเล ซึ่งเป็นอาหารของกุ้ง และปลา โดยมี นก แมวน้ำและวาฬ มากินอีกทอดหนึ่ง และสุดท้ายสัตว์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นอาหารของพวกเราหมีขาว ซึ่งอยู่ลำดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นการได้รับผลกระทบทั้งห่วงโซ่อาหารนั่นเอง
ปัจจุบัน พวกเราและเพื่อนๆ มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 22,000 – 31,000 ตัว ซึ่งกระจายตัวอยู่ใน 19 กลุ่มพื้นที่ในบริเวณอาร์กติกนี้ และในงานวิจัย Polar Bear Specialist Group ของ International Union for the Conservation of Nature Exploration ซึ่งได้เก็บข้อมูลพวกเราในปี 2549 และอีกครั้งในปี 2553 พบว่าจำนวนของหมีขาวบริเวณโบว์ฟอร์ตตอนใต้ ที่มีอยู่ประมาณ 1,500 ตัวนั้นลดลงเหลือเพียงประมาณ900 ตัว และยังคงมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งหลักๆ แล้วเกิดจากมลภาวะและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปซึ่งส่งผลต่ออาหาร และแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกเรา หากเป็นเช่นนี้แล้ว ในอนาคตพวกเราอาจจะสูญพันธุ์ได้
พวกเราหมีขาว ขอเป็นตัวแทนที่จะเชิญชวนให้ทุกคน หันมาใส่ใจ และให้ความสำคัญกับเรื่องภาวะโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันอย่างจริงจัง เพื่อร่วมมือกัน แก้ไขและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว พวกเรา และสิ่งมีชีวิตต่างๆ อาจสูญพันธุ์ ระบบนิเวศถูกทำลาย ซึ่งสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็จะได้รับผลกระทบต่าง ๆ เช่นกัน เมื่อถึงวันนั้นบ้านของพวกเรา (โลก) คงไม่น่าอยู่อีกต่อไป
อ้างอิง
- https://th.wikipedia.org/wiki/หมีขาว
- https://www.worldwildlife.org/species/polar-bear
- https://www.seub.or.th/bloging/สถานการณ์/การอยู่รอดของหมีขาว-ในย/
- https://thaipublica.org/2019/04/march-second-hottest-record-earth-temperature-rise/
- https://www.seub.or.th/bloging/สถานการณ์/สิ่งแวดล้อม-ต่างประเทศ/หมีขั้วโลกบุกเมือง-เมื/
- Juniper, T. (2018). How we’re F***ing up our planet. (First Published). New York: DK Publishing.
- https://thomasthailand.co/social-movement/หมีขั้วโลก-นักล่าในเมือ/
- Joanna, D. (2019). 30-Second Climate (First Published). United Kingdom: Ivy Press
- https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0191631
- Gore, A. (2007). โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง. An Inconvenient Truth. (พิมพ์ครั้งแรก). กรุงเทพฯ: มติชน.
- https://www.iucnredlist.org/species/22823/14871490#population
- Schroeder, J., Coyne, C., Farndon, J., Harris, T., Harvey, D., Jackson, T., and Singer, A. (2019). The Ecology Book. (First Published). London: Dorling Kindersley Limited.
- https://ngthai.com/science/20321/polar-bears/