ตอนนี้ทุกคนคงรู้แล้วนะครับว่า ก๊าซเรือนกระจกมีความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้ แต่เพราะปัจจุบันปริมาณก๊าซเรือนกระจกมีมากเกินไป จึงส่งผลให้โลกของเราอุ่นขึ้น และเกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ไปทั่วโลก
“เพื่อนๆ คิดว่าตอนนี้สถานการณ์ก๊าซเรือนกระจกของโลกเราเป็นอย่างไรบ้างครับ”
วันนี้พวกเราหมีขาว จะขอเป็นตัวแทนมาเล่าให้ฟังนะครับ…มาติดตามกันเลย
ก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่บนโลกใบนี้ มีมากมายหลายชนิด ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มีมากที่สุดก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยข้อมูลของ Global Carbon Budget ซึ่งได้เก็บข้อมูลความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศพบว่า ในปี 2016 โลกของเรามีปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 403 ppm (part per million คือ 1 ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งก็หมายความว่า ในชั้นบรรยากาศที่มีองค์ประกอบของอากาศมากมายคือ 1 ล้านส่วนนั้น มีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในนั้น 403 ส่วนนั่นเอง โดยในปี 2016 นี้เป็นปีแรกที่โลกของเรามีค่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากกว่า 400 ppm ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 45% เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตเมื่อปี 1750 ซึ่งมีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่เพียงประมาณ 277 ppm จากข้อมูลจึงสรุปได้ว่าระดับความเข้มของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในชั้นบรรยากาศของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกันเลยทีเดียวนะครับ
แล้วทุกคนรู้มั้ยครับว่า ตอนนี้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ทุกคนปล่อยกันนั้นมีปริมาณเท่าไหร่ ผมจะมาบอกให้ครับ จากข้อมูลของ Climate Watch Data ตามฐานข้อมูลของ CAIT Climate Data Explorer ของ World Resource Institute ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั่วโลกจากทุกกิจกรรมของมนุษย์ทั้งจากภาคพลังงาน ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ และของเสีย โดยมีข้อมูลล่าสุดถึงปี 2016 นั้น มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 49,358.03 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ซึ่งประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกก็คือ ประเทศจีน คือ 11,576.87 MtCO2e รองลงมาก็คือ สหรัฐอเมริกา คือ 5,833.49 MtCO2e และสำหรับประเทศไทยในปี 2016 นั้น มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 417.24 MtCO2e ซึ่งนับเป็นอันดับที่ 20 ของโลกเลยนะครับ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ไม่น้อยเลย และถ้าเราลองคิดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นรายบุคคล จะพบว่าค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหนึ่งคนของทั่วโลกจะอยู่ที่ 6.65 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ส่วนประเทศไทยนั้นค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคน คือ 6.33 tCO2e ซึ่งนับว่าสูงมากเลยทีเดียวนะครับ
สุดท้ายนี้พวกเรา (หมีขาว) อยากให้ทุกคนร่วมมือ ร่วมพลังกันเพื่อลดอุณหภูมิของโลกใบนี้ให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสกันนะครับ เนื่องจากในการประชุมในสัญญาข้อตกลงที่ปารีส (Paris Agreement) ใน COP 21 ซึ่งคือการประชุม รัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนเปลงสภาพภูมิอากาศ (The Conference of the Parties to the UNFCCC - หรือ COP) ที่ได้จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2015 ได้กำหนดเป้าหมายให้แต่ละประเทศต้องช่วยกันรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจากข้อมูลของ Global Carbon Budget ได้สรุปว่าตั้งแต่ยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม 1870 จนถึงปี 2016 นี้โลกของเรามีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่ถึง 2,100 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (GtCO2) หากจะควบคุมให้อุณหภูมิของโลกเราไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ภายใน 20 ปี (นับตั้งแต่ปี 2017 – 2037) นั้นเราทุกคนจะต้องช่วยกันควบคุมให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของเราไม่เกิน 2,870 GtCO2 ดังนั้นจึงยังเหลือโควตาที่จะปล่อยได้อีก เพียง 770 GtCO2 เท่านั้น
“เพราะภาวะโลกร้อน และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้ ไม่ใช่ภาระของคนใด คนหนึ่ง หรือประเทศใด ประเทศหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน ทุกหน่วยงาน และทุกประเทศบนโลกใบนี้ เพราะเราทุกคนอยู่บนโลกใบเดียวกัน ดังนั้นถ้าเราทุกคนร่วมมือกัน เราก็จะสามารถช่วยโลกใบนี้ โลกของพวกเราได้ครับ”
อ้างอิง
- https://www.climatewatchdata.org/data-explorer/historical-emissions?historical-emissions-data-sources=71&historical-emissions-end_year=2016&historical-emissions-gases=246&historical-emissions-regions=SAR%2CTHA%2CWORLD%2CTOP&historical-emissions-sectors=843&page=1
- https://www.google.com/publicdata/explore?ds=d5bncppjof8f9_&met_y=sp_pop_totl&idim=world:Earth&hl=th&dl=th
- http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/01.aspx
- https://www.climatewatchdata.org/
- https://www.facebook.com/GreenstyleSE/photos/a.551150184905486/2788504471170035/?type=3&theater
- กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2558). Green Line เส้นทางสีเขียว, ฉบับที่ 33 กันยายน - ธันวาคม 2558
- https://www.globalcarbonproject.org/carbonbudget/index.htm