โลกของเรานี้นะครับ ถือเป็นดาวเคราะห์ที่มีความมหัศจรรย์และน่าทึ่งมากเลยนะครับ เป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่มีทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอยู่ร่วมกันจำนวนมาก และมีระบบหรือวัฏจักรของสสารที่สำคัญหลายชนิดที่ขับเคลื่อนระบบนิเวศของโลกใบนี้ และหนึ่งในวัฏจักรที่สำคัญนั่นก็คือวัฏจักรคาร์บอน (Carbon Cycle) เนื่องจากคาร์บอนเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิตเกือบจะทุกชนิดบนโลกใบนี้ และยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมอุณหภูมิของโลกให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต โดยอยู่ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อทำหน้าที่เป็นก๊าซเรือนกระจกของโลก ซึ่งในวัฏจักรของคาร์บอน ก็จะมีกระบวนการดูดซับ กักเก็บ และการปลดปล่อยคาร์บอนเพื่อให้เกิดความสมดุลภายในระบบนิเวศของโลกใบนี้ ซึ่งกระบวนการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของคาร์บอนนี้มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกนี้เป็นอย่างมาก เพื่อนๆ มาติดตามกันดูนะครับ ว่าความมหัศจรรย์ของธรรมชาติและโลกของเราเป็นอย่างไร และตอนนี้กำลังเกิดปัญหาอะไรที่แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา มาติดตามอ่านต่อกันเลยครับ
ตามที่ผมได้บอกทุกคนไปนะครับว่า ธรรมชาติของโลกเรานั้นมีความมหัศจรรย์ เพราะโดยปกติหรือตามวัฏจักรของคาร์บอนนั้น จะมีแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งแหล่งกักเก็บหรือดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้เราเรียกว่า Carbon Sink ครับ โดยตามข้อมูลของ Global Carbon Budget ได้แบ่งแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกเราเอาไว้เป็น 3 แหล่งหลัก ๆ นั่นก็คือ มหาสมุทร (Blue carbon) ป่าไม้ (Green carbon) และในชั้นบรรยากาศ (Atmosphere) ซึ่งแหล่งกักเก็บคาร์บอนในชั้นบรรยากาศนี้เองที่กำลังมีปัญหา เนื่องจากเป็นการกักเก็บในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก
ก๊าซเรือนกระจกนั้นมีประโยชน์และจำเป็นต่อโลกของเรา ซึ่งก๊าซเรือนกระจกนั้นมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้น เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเกิดจากกระบวนการหายใจของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ รวมถึงการหายใจของมนุษย์เราด้วย ส่วนก๊าซมีเทน (CH4) นั้น เกิดจากกระบวนการย่อยสลายของสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ภายใต้สภาวะออกซิเจน (O2) ต่ำ หรือไร้ออกซิเจน เช่น การย่อยสลายของซากพืช ซากสัตว์ และของเสียจากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ส่วนก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ในธรรมชาติเกิดจากกระบวนการย่อยสลายสารประกอบไนโตรเจนของแบคทีเรียในดินและมหาสมุทร เป็นต้น
แต่ตอนนี้ โลกของเรากำลังประสบปัญหาจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มีมากเกินไป ซึ่งสาเหตุหลักคือเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ในตอนนี้เราจะขยับกันมาใกล้ตัวกันอีกนิด ถึงประเทศไทยกันนะครับ จากข้อมูลของ Climate Watch Data ตามฐานข้อมูลของ CAIT Climate Data Explorer ของ World Resource Institute ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั่วโลกไว้ ซึ่งมีข้อมูลล่าสุดถึงปี 2016 นั้น ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 417.24 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCo2e) ซึ่งนับเป็นปริมาณที่มากเป็นอันดับที่ 20 ของโลกเชียวนะครับ ไม่น้อยเลยใช่มั้ยครับ ซึ่งในปริมาณ 417.24 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่านี้ เกิดจากการปล่อยจากแหล่งใดกันบ้าง มาดูกันครับ ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก (1) ภาคพลังงานถึง 266.88 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณที่มากที่สุดเลยครับ เพราะเกิดจากการใช้พลังงานต่าง ๆ นั่นเอง ทั้งไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการใช้พลังงานฟอสซิลนั่นเอง (2) ภาคการเกษตร 63.93 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (3) ภาคอุตสาหกรรม 53.88 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการในการผลิต (4) ภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของที่ดินและป่าไม้ 19.96 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ (4) ภาคของเสีย 12.58 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
จากข้อมูลข้างต้น ทุกคนคงเห็นแล้วนะครับ ว่าทุกคนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราทุกคนต้องใช้ไฟฟ้า ใช้แก๊สหุงต้ม และใช้น้ำมัน รวมถึงก่อให้เกิดของเสียและขยะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังนั้นหากเราทุกคนช่วยกันประหยัดพลังงาน ใช้อย่างรู้คุณค่าให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และไม่ก่อให้เกิดของเสียหรือขยะโดยหาทางใช้ประโยชน์ให้ถึงที่สุด ก็จะช่วยโลกของเราได้นะครับ พลังเล็ก ๆ หากรวมกันแล้ว ก็จะกลายเป็นผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้นะครับ มาพยายามด้วยกันนะครับ
อ้างอิง
- https://sites.google.com/site/kwangpeace/kas-ni-tras-xxksid-n2o
- http://oservice.skru.ac.th/ebookft/245/chapter6.pdf
- https://www.researchgate.net/figure/This-diagram-portrays-the-major-pools-and-fluxes-in-the-Earths-carbon-cycle-as_fig1_237417348
- https://www.climatewatchdata.org/data-explorer/historical-emissions?historical-emissions-data-sources=71&historical-emissions-end_year=2016&historical-emissions-gases=246&historical-emissions-regions=SAR%2CTHA%2CWORLD%2CTOP&historical-emissions-sectors=843&page=1