สถานการณ์โควิดทำให้โลกร้อนน้อยลงจริงหรือ ?

         สวัสดีครับทุกคน กลับมาพบกับผม หมีขาว กันอีกแล้วนะครับ ครั้งนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) ในช่วงการแพร่ระบาดในช่วงไวรัส COVID – 19 ในประเทศไทยและทั่วโลกกันนะครับ มาติดตามกันนะครับ

          ตามที่ทุกท่านทราบกันนะครับว่า สถานการณ์ของประเทศไทย และทั่วโลกตอนนี้ คือ กำลังประสบปัญหาและได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัส       COVID – 19 ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ระบบเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก รวมถึงอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกก็เปลี่ยนไปด้วยในทิศทางที่ลดลง และจากข้อมูลระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งรายงานโดยองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) พบว่า ข้อมูลความเข้มข้นของก๊าซ CO2 ในเดือนมกราคม ปี 2020 อยู่ที่ 411.7 ppm และระดับความเข้มข้นของก๊าซ CO2 ในเดือนเมษายน ปี 2020 อยู่ที่ 412.4 ppm ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดือนมกราคม 0.69 ppm คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ 7.96% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่น้อยกว่าอัตราเพิ่มจากปีก่อนหน้าจากช่วงเวลาเดียวกัน ที่ 9.94% ในปี 2019 และ 17.65% ในปี 2018 ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า การลดลงของกิจกรรมทางสังคมในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 นี้ ส่งผลในแง่ของการชะลออัตราเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ แต่ทั้งนี้ เนื่องจากระยะเวลาที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คงอยู่ในชั้นบรรยากาศยาวนานมาก จึงส่งผลให้มีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

  ซึ่งทางองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศระหว่างช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 ว่า ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ตามธรรมชาติที่มีนัยสำคัญต่อระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ มากกว่าปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ได้แก่ วัฏจักรคาร์บอนบนพื้นดินและในชั้นบรรยากาศตามธรรมชาติที่มีความซับซ้อน และมีตัวแปรทางด้านภูมิอากาศหลายตัวแปร เช่น การตอบสนองของพืชและดิน ความผันแปรของอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ และความชื้นในดิน ในแต่ละช่วงฤดูกาลและช่วงปีอีกด้วยนะครับ  

              8

 

    ส่วนแนวโน้มในภาพรวมของสถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย ตามรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานรายภาคเศรษฐกิจ โดยในปี 2019 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 250.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยจากการผลิตไฟฟ้าถึง 94.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (38%) ภาคขนส่ง 71.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (28%) ภาคอุตสาหกรรม 69.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (28%) และจากสาขาเศรษฐกิจอื่น ๆ คือ จากภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ 15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (6%) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2018 ซึ่งมีปริมาณการปล่อยที่ 260.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ จะพบว่าในปี 2019 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดลง 4.9 % จากช่วงเดียวกันของปี 2018 โดยลดลงในภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ในขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้านั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งหากเทียบเป็นรายบุคคลแล้วจะพบว่า ในปี 2019 คนไทยเราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานอยู่ที่ 3.76 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคน ส่วนในปี 2018 ปล่อย 3.96 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคน

          เห็นมั้ยครับว่า เราทุกคนมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันทุกคน โดยเราจะเห็นได้ว่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากิจกรรมทางสังคมจะลดลงอย่างมากในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 แต่เนื่องจากระยะเวลาที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คงตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศนั้นยาวนานมาก จึงทำให้ปริมาณการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลให้ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป อย่างไรก็ตาม หากพวกเรา ช่วยกัน ร่วมมือกัน เราก็จะสามารถช่วยชะลออัตราการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศกันได้นะครับ

 

อ้างอิง

  • http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/01.aspx
  • สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน. การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน ปี 2562 จัดทำโดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน. การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน ปี 2561 จัดทำโดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • ศูนย์ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). การเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในชั้นบรรยากาศ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19