คาร์บอนฟุตพริ้นท์คืออะไร

สวัสดีครับทุกคน กลับมาพบกับผม (หมีขาว) กันอีกแล้วนะครับ วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องคาร์บอนฟุต พริ้นท์ให้ฟังกันนะครับ ว่าคืออะไร มีหลักการในการวัดหรือคำนวณอย่างไร และหน่วยของคาร์บอนฟุต พริ้นท์คืออะไร มาติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจนี้กันเลยครับ

          คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยและดูดกลับจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์นั่นเอง ยังจำกันได้ไหมครับว่ามีก๊าซอะไรบ้าง ก๊าซเรือนกระจกที่นำมาพิจารณามีอยู่ 7 ตัวด้วยกันนะครับ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน, ก๊าซไนตรัสออกไซด์, กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดนี้จะมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential :  GWP) แตกต่างกัน ซึ่งทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้กำหนดค่าการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของแต่ละก๊าซให้เทียบกับศักยภาพการเกิดภาวะโลกร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเท่ากับ 1 ซึ่งจะมีหน่วยเป็น คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent : CO2e)

care-the-bear-10-op

ซึ่งในปัจจุบันนี้นะครับ ในการคำนวณค่าก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์นั้น เราได้ใช้ค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของรายงานการประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของ IPCC ฉบับที่ 5 (IPCC Fifth Assessment Report 2014 : AR5) ซึ่งได้กำหนดให้ ก๊าซมีเทนมีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นจาก 25 เท่า เป็น 28 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนตรัสออกไซด์มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนอยู่ที่ 265 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ครับ ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างให้ทุกคนเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกนิดนะครับ เช่น หากเราปล่อยก๊าซมีเทน 1 กิโลกรัม จะหมายความว่าเราปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เท่ากับ 28 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e)  และหากเราปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ 1 กิโลกรัม ก็จะหมายความว่า เราปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เท่ากับ 265 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) นั่นเองครับ ถึงตอนนี้เพื่อนๆ คงจะทราบกันดีแล้วว่าก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิดด้วยกัน การที่เราจะสามารถบอกปริมาณของก๊าซเรือนกระจกนั้นได้ จึงจำเป็นต้องนำมาเทียบและแปลงค่าก๊าซทุกตัวให้มีหน่วยเดียวกัน นั่นก็คือ คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) นั่นเองครับ

          จากข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้น ผมคิดว่าทุกคนคงพอเข้าใจคำว่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” และหน่วยของคาร์บอนฟุตพริ้นท์กันแล้วนะครับ ต่อไปเราจะมาอธิบายถึงวิธีการคำนวณกัน ว่ามีวิธีการคำนวณอย่างไร และต้องใช้ข้อมูลอะไรในการคำนวณกันบ้างนะครับ

          ในการคำนวณอย่างที่ผมบอกไปแล้วนะครับว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์เกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ดังนั้น เราต้องนำข้อมูลของกิจกรรมที่เราทำนั้น (Activity Data) คูณ กับค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ซึ่งเป็นค่าที่ใช้ในการแปลงค่าข้อมูลเบื้องต้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อคิดเป็นค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมนั้น ๆ เช่น หากเราใช้ไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง(kWh) โดยค่า Emission Factor ของไฟฟ้า คือ 0.4999 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วย จะเท่ากับเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 1 x 0.4999 = 0.4999 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่านั่นเองครับ (kgCO2e) โดยค่า Emission Factor นี้ทุกคนสามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นะครับ

          ดังนั้น เราจะเห็นว่าในการทำงาน หรือการดำเนินชีวิตประจำวันของเราทุกคนนั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้า, น้ำประปา, กระดาษ, น้ำมันเชื้อเพลิง หรือการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงอาหาร ของเสียที่เกิดขึ้นในทุกวัน ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น ถ้าเราลองนำมาคำนวณตามหลักการข้างต้น ก็จะสามารถทราบได้ว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่กันบ้างนะครับ ซึ่งถ้าเราอยากช่วยโลกใบนี้ไม่ให้ร้อนเร็วขึ้น ในชีวิตประจำวันของพวกเรา เราสามารถวางแผนกิจวัตรต่าง ๆ หรือสิ่งที่ทำให้ดี คิดก่อนใช้ และใช้ทรัพยากรทุกอย่างอย่างคุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็จะช่วยกันลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือ   คาร์บอนฟุตพริ้นท์กันได้นะครับ

 

 อ้างอิง

  • ศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่องค์ความรู้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). (2560). อภิธานศัพท์และคำย่อด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (พิมพ์ครั้งที่ 1).
  • https://www.ipcc.ch/pdf/assessmentreport/ar5/wg1/WG1AR5_Chapter08_FINAL.pdf
  • http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=b3JnYW5pemF0aW9uX2VtaXNzaW9u