เป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของทั่วโลกเเละประเทศไทยเป็นอย่างไร

          สวัสดีครับทุกท่าน จากบทความที่ผ่านมา พวกผม หมีขาว ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และ ก๊าซเรือนกระจกให้ทุกท่านทราบกันไปแล้วนะครับ ซึ่งถึงแม้ว่าพวกผมจะอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะใกล้สูญพันธุ์จากภาวะโลกร้อนนี้ แต่ความหวังของผมก็ยังคงมีอยู่ เพราะทั่วโลกได้เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องราวเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นแล้วนะครับ สำหรับในบทนี้เรามาติดตามกันนะครับ ว่าทั่วโลกและประเทศไทยนั้น มีการเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันเป็นอย่างไรบ้าง

          ย้อนไปเมื่อปี 1988 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) ร่วมกับ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization – WHO) ได้จัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการศึกษาให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ทั้งในด้านเทคนิค เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

               ต่อมาในปี 1990 IPCC ได้จัดทำรายงานที่มีข้อสรุปยืนยันว่า กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์นั้นส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจริง ซึ่งในปีนั้นได้มีการจัดประชุม Second World Climate Conference ขึ้น จึงทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของนานาประเทศ จากจุดเริ่มต้นนี้เอง ในเดือนพฤษภาคม ปี 1992 จึงได้เกิดการประชุมระดับนานาชาติขึ้นเพื่อหาแนวทางยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์และได้มีการลงนามรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) และเปิดให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกลงนามให้สัตยาบันในระหว่างการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environmental and Development : UNCED) หรือที่เรารู้จักกันในนามว่า Earth Summit การประชุมสุดยอดโลก เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1992 ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล โดยอนุสัญญามีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 21 มีนาคม 1994 โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 1994 และได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนเปลงสภาพภูมิอากาศ (The Conference of the Parties to the UNFCCC) หรือ COP ตลอดมา

         ประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แสดงเจตจำนงการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions – NAMAs Pledge) ต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสมัยที่ 20 ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู โดยระบุว่าภายในปี 2020 ประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศร้อยละ 7 ถึง 20 ในภาคพลังงานและภาคการขนส่ง ให้ต่ำกว่าระดับการปล่อยในการดำเนินงานตามปกติ (Business as usual) ต่อมาในวันที่ 22 เมษายน 2016 ประเทศไทยได้ลงนามความตกลงปารีส (COP 21) และได้ให้สัตยาบันสารเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2016 ซึ่งในการประชุมของ COP 21 นี้ทั่วโลกได้กำหนดเป้าหมายระยะยาวร่วมกัน คือ ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม

care-the-bear-9

          ปัจจุบัน ประเทศไทยได้อยู่ภายใต้เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้เสนอไว้กับประชาคมโลก (National Determined Contribution – NDC) โดยภายในปี 2030 จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 – 25 จากกรณีดำเนินการตามปกติ โดยการคำนวณคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) หากจะลดลงร้อยละ 20 – 25 นั้นจะต้องลดลงอย่างน้อย 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2021 – 2030 เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุได้ตามเป้าหมายได้มากกว่า 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานและการขนส่ง ประมาณ 113 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 20.4 % โดยส่งเสริมให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอุตสาหกรรม, การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร, การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์, การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ, การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในยานพาหนะ, การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า, การใช้พลังงานลม, การใช้พลังงานแสงอาทิตย์, การใช้พลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในครัวเรือน

2. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการจัดการของเสีย ประมาณ 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 0.3% โดยการจัดการขยะมูลฝอย, การจัดการน้ำเสียชุมชน, การนำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์ และการจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม

3.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรม ประมาณ 0.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 0.1% โดยส่งเสริมการใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ด และการปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น

ดังนั้น ถ้าทุกคน และทุกภาคส่วน และทุกระดับต่างร่วมมือกันเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ และส่งเสริมให้เกิดเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยโลกของเราให้ไม่ร้อนเกิน 2 องศาเซลเซียสตามเป้าหมายกันนะครับ

 

อ้างอิง

- นิตยสารฟ้า ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 ประจำเดือน กรกฎาคม - ธันวาคม 2560, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พิมพ์ที่ บริษัท ไอดี. ปริ้นท์ จำกัด
-องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), การดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions (NAMAs)
-องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), คู่มือการดำเนินโครงการการพัฒนาที่สะอาด (CDM)เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับผู้ประกอบการ.
-https://www.facebook.com/GreenstyleSE/photos/a.551150184905486/2788504471170035/?type=3&theater
- http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/page/nama-594
-กลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573