ประเทศไทยกับการลดก๊าซเรือนกระจก

          สวัสดีครับทุกคน ในบทที่ผ่านมา ทุกคนก็ได้รู้จักก๊าซเรือนกระจก และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไปแล้วนะครับ ในครั้งนี้ผม (หมีขาว) จะมาเล่าให้ฟังครับว่าในประเทศไทยของเราปัจจุบันมีการรับรองเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกในเรื่องอะไรบ้างนะครับ

          ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องก๊าซเรือนกระจกโดยตรงของประเทศไทยก็คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน (อบก.) หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่รับผิดชอบและเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงการ และตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศไทย

          ซึ่งการรับรองเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ด้าน คือ (1) กลไกการลดก๊าซเรือนกระจก และ (2) การรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยข้อมูลเกี่ยวกับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ผมจะขอยกไปพูดให้ฟังในครั้งหน้านะครับ ส่วนในบทความนี้ผมจะขอเล่าเฉพาะเรื่องของกลไกการลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Mitigation Mechanism) ก่อนนะครับ ซึ่งนั่นก็คือ กลไกที่ช่วยส่งเสริมให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ได้ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีหลายโครงการที่องค์กรสามารถดำเนินการและนำไปปฏิบัติได้ เช่น

care-the-bear-11-op_2

  • โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER)  คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่ อบก. พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ที่เรียกกันว่าคาร์บอนเครดิต ไปทำการซื้อขายภายในประเทศได้ ซึ่งปัจจุบันมี 118 โครงการ และมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองแล้วถึง 3,770,175 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พ.ค. 2563)
  • โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) คือ การประเมินก๊าซเรือนกระจกเบื้องต้นเพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะได้รับมอบใบประกาศเกียรติคุณ โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากโครงการ LESS จะไม่สามารถนำไปซื้อ-ขายได้ โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานที่เข้าร่วม 5,873 หน่วยงาน จำนวน 6,236 กิจกรรม ซึ่งสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 188,493,291 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism : JCM)เป็นกลไกแบบทวิภาคีที่ประเทศญี่ปุ่นได้ริเริ่มขึ้นเพื่อช่วยให้ประเทศที่มีความร่วมมือสามารถใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกโดยการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 มีโครงการจำนวนทั้งหมด 30 โครงการ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้รวม 174,096 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
  • กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) เป็นกลไกหนึ่งที่กำหนดขึ้นภายใต้พิธีสารเกียวโตที่ให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 (Annex I countries) ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว สามารถบรรลุพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยการซื้อคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการทำโครงการ CDM ในประเทศกลุ่มนอกภาคผนวกที่ 1 (Non-Annex I countries) ที่เรียกว่า Certified Emission Reduction : CERs เพื่อนำไปหักลบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่ทาง อบก. ออกหนังสือให้คำรับรองโครงการ (Letter of Approval: LoA) และได้รับการขึ้นทะเบียน (Registered) จากคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM EB) รวมทั้งสิ้น 154 โครงการ โดยโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนดังกล่าวก่อให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ 7,414,236 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

เห็นมั้ยครับว่า ประเทศไทยเรามีโครงการที่สนับสนุนให้องค์กรลดก๊าซเรือนกระจกด้วยกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกหลายโครงการด้วยกัน และนอกจากนี้ยังมีการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้องค์กรนำไปวางแผนในการลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ด้วยเช่นกัน อย่าลืมติดตามกันนะครับ

 

อ้างอิง