สวัสดีครับทุกคน กลับมาพบกับผม (หมีขาว) กันอีกแล้วนะครับ สำหรับวันนี้ผมจะมาชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์กันนะครับว่า ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในประเทศไทยมีอะไรบ้าง และมีความเป็นมาอย่างไรกันนะครับ
ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แรกเริ่มนั้นได้เกิดขึ้นใน สหราชอาณาจักร เมื่อปี 2007 โดยองค์กรอิสระที่ชื่อว่า Carbon Trust ซึ่งได้ริเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการลดโลกร้อนมาตั้งแต่ปี 2001 มีจุดมุ่งหมายให้คำแนะนำให้ผู้ประกอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง และเป็นองค์กรแรกที่ให้ใบรับรองเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในปัจจุบันมีหลายประเทศในโลกที่มีฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์รับรองแล้ว เช่น ประเทศอังกฤษ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สวิตเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, แคนาดา เป็นต้น โดยประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นผู้นำในอาเซียนเรื่องฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่ใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์
ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในประเทศไทยมีด้วยกัน 6 กลุ่ม ดังนี้
- คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) เป็นฉลากที่เราพบได้บนสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แสดงถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการผลิตผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยจะคำนวณตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ จนเข้าสู่กระบวนการผลิต การขนส่ง การนำไปใช้ และการกำจัดซาก ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์มีอายุการรับรองฉลากเป็นเวลา 3 ปี
- คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization หรือ Corporate Carbon Footprint: CCF) เป็นการรับรองข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรในช่วงระยะเวลา 1 ปี โดยพิจารณาจาก 3 ส่วนหลัก คือ (1) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Direct Emission) เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง การขนส่งจากยานพาหนะขององค์กร เป็นต้น (2) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) เช่น การซื้อพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ เป็นต้น และ (3) การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมด้านอื่น ๆ เช่น การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรมีอายุการรับรองเป็นระยะเวลา 1 ปี
- ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ หรือ ฉลากลดโลกร้อน คือ ฉลากที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเป็นการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยเปรียบเทียบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในปีปัจจุบันกับปีฐาน ซึ่งถือว่าเป็นฉลากที่มีบทบาทสำคัญต่อการลดก๊าซเรือนกระจกของกระบวนการผลิตสินค้า
- ฉลากคูลโหมด (Cool Mode) เป็นฉลากที่มอบให้กับเสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี ทำให้สวมใส่สบาย ไม่ร้อนอบอ้าว สามารถสวมใส่ในอาคารหรือห้องที่มีอุณภูมิเครื่องปรับอากาศ 25˚C ได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด เนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการตัดเย็บเป็นผ้าที่มีการพัฒนาให้มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อจากผิวหนังและระเหยออกจึงช่วยรองรับการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการมีส่วนช่วยลดการใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทาง อบก. ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) โดยให้ระยะเวลาการรับรองแก่ผู้ประกอบการเป็นเวลา 3 ปี
- ฉลาก Carbon Offset / Carbon Neutral เป็นฉลากที่ให้การรับรองกับกิจกรรมที่มีการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร หรือ ผลิตภัณฑ์ หรือ เหตุการณ์งานอีเว้นท์ หรือ บุคคล โดยหากมีการชดเชยเพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงบางส่วนจะได้รับการรับรองฉลาก Carbon Offset และชดเชยทั้งหมดหรือลดลงเท่ากับศูนย์จะได้รับการรับรองฉลาก Carbon Neutral ซึ่งเทียบเท่ากับไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมนั้น ๆ
- Carbon Neutral Man หรือกิจกรรม “คนไทย หัวใจไร้คาร์บอน” เป็นการประเมินและรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนบุคคลด้วยแอปพลิเคชั่น “CF Calculator” ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยโปรแกรมจะสอบถามข้อมูลการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน การเดินทาง การรับประทานอาหาร จากนั้นจะคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ท่านปล่อยในแต่ละปี ซึ่งการคำนวณนี้จะสามารถต่อยอดไปสู่การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มีค่าเป็นศูนย์ได้ หรือฉลาก Carbon Neutral นั่นเอง
ทุกคนเห็นมั้ยครับว่า ทั่วโลก และ ประเทศไทยนั้น ได้มีการตื่นตัวที่จะสร้างความตระหนัก และจิตสำนึกเพื่อช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาโดยมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่ผู้ผลิต ซึ่งจะต้องใส่ใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งกระบวนการในการผลิตสินค้าหรือบริการ ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งระบบตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบในภาคการเกษตรต่าง ๆ ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง รวมไปถึงการกำจัดของเสีย และผู้บริโภคซึ่งจะมีส่วนร่วมได้ในการเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถตรวจวัดและประเมินออกมาได้เป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยหรือลดได้ขององค์กร ผลิตภัณฑ์ หรือ บริการนั้น ๆ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาโลกร้อนจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ ก็อยู่ที่พวกเราทุกคนช่วยกันนะครับ
อ้างอิง
- นิตยสารฟ้า ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 ประจำเดือน มกราคม - มิถุนายน 2562, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พิมพ์ที่ บริษัท ไอดี. ปริ้นท์ จำกัด
- http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/