จากข้อมูลการสำรวจของ Environmentalleader.com ได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้นำองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จาก 69 ประเทศ เช่น Unilever, Tesla, IKEA, Google, General Electric และ Toyota พบว่า 70% ของธุรกิจเห็นโอกาสในการเจริญเติบโตทางนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 69% เห็นว่าการลงทุนที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนี้จะช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ และ 67% ได้มีการรายงานการดำเนินงานเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนี้แล้ว ดังนั้นการให้ความสำคัญต่อเรื่องภาวะโลกร้อนจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรใส่ใจ ซึ่งสามารถสรุปประโยชน์ที่จะได้รับจากการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกและรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ดังนี้
- ทำให้องค์กรทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ซึ่งสามารถนำไปสู่การวางแผนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถูกจุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้สูงสุด
- การดำเนินการวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายให้องค์กรได้จากการลดการใช้พลังงาน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับมาตรการ Non-Tariff Barriers (NTBs) หรือการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เช่น มาตรการต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์น้ำและพลังงาน (ฉลากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม)
4.ความได้เปรียบทางการค้าขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นจุดแข็งทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ซึ่งต่างเล็งเห็นว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องเร่งด่วน และสามารถตรวจวัดเป็นตัวเลขได้
- ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ที่อยู่ใน Supply Chain ที่ต้องการสินค้าหรือคู่ค้าที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน
- องค์กรสามารถพัฒนาและต่อยอดโครงการไปสู่อนาคต โดยการขยายผลเกี่ยวกับการประเมินก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้การรับรองฉลากลดโลกร้อน, โครงการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ, โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก, โครงการ Care the Bear Change the Climate Change ลดโลกร้อนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
- การประเมินก๊าซเรือนกระจก จะช่วยให้องค์กรตอบโจทย์ในภาพรวมที่เป็นภาษาเดียวกันนั่นคือภาษา Carbon Footprint ที่สามารถสื่อสารและเข้าใจในระดับสากลทั่วโลกได้ เช่น การลดปริมาณกระดาษ การลดขยะและคัดแยกขยะ การประหยัดไฟที่องค์กรดำเนินการไปนั้น เท่ากับองค์กรช่วยลดโลกร้อนได้เท่าไหร่
- เป็นการแสดงความรับผิดชอบขององค์กร ตามหลักการดำเนินงานของ ESG (Environmental, Social, Governance) ที่โปร่งใส จริงใจ และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำไปรายงานให้กับลูกค้า และตลาดหลักทรัพย์ได้ในรายงานความยั่งยืนขององค์กร ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้
- องค์กรมีส่วนร่วมและตอบสนองต่อนโยบายของประเทศไทย ซึ่งได้ลงนามในข้อตกลงของปารีส ในการมีส่วนร่วมที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 – 25 % ใน COP 21 ภายในปี 2030
- องค์กรสามารถสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนของประเทศไทย โดยการดำเนินการซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชย รวมถึงสามารถเข้าร่วมและเป็นตัวชี้วัดให้องค์กรในโครงการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainability Award) ได้อีกด้วย
ประโยชน์จากการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ข้างต้นนี้ โดยสรุปแล้วถือว่าเป็นการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค และเป็นการตอบโจทย์ขององค์กร ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านตัวเลขที่ตรวจวัดและประเมินออกมาในรูปแบบของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งทำให้เราสามารถตรวจวัดติดตามประเมินผล และดำเนินการบริหารจัดการให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงได้จริง ดังคำกล่าวของ Peter Drucker ที่กล่าวว่า
“If you can’t measure it, You can’t Improve it”
อ้างอิง
- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). (2559). ฉลาดเลือก ฉลาดใช้ ใส่ใจโลกร้อนด้วย ฉลากคาร์บอน. (พิมพ์ครั้งที่ 1).
- การสัมมนา “การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในสภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศ (Climate emergency)” ภายใต้โครงการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 ณ ห้องดวงกมล ชั้น 2 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ จัดโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน).