สวัสดีครับทุกคน ผมหมีขาวจากขั้วโลกเหนือ กลับมาพบกับทุกคนอีกแล้วนะครับ ในตอนนี้เราจะมาคุยกันครับว่า เราในฐานะบุคลากรขององค์กร/ หน่วยงานต่าง ๆ จะสามารถมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร/ หน่วยงานของเราได้อย่างไรบ้างนะครับ
การช่วยองค์กร/ หน่วยงานให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้นั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงคือ การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า ไม่สิ้นเปลือง และคำนึงถึงทั้งกระบวนการหรือวัฏจักรตั้งแต่ขั้นตอนแรก การเตรียมและจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การบรรจุหีบห่อ การใช้งาน จนถึงการย่อยสลาย ซึ่งตลอดทั้งกระบวนการนั้นจะต้องมีของเสียเหลือทิ้งน้อยที่สุด หรือไม่เหลือเลยโดยการนำของเหลือทิ้งจากขั้นตอนสุดท้ายหลังใช้งานกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีกครั้ง ที่เรียกว่า วงจรปิด (Closed Loop) หรือการผลิตแบบอู่สู่อู่ (Cradle to Cradle) หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ ทุกองค์กรนั้นสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเองได้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ทำงานในด้านการผลิตสินค้า หรือด้านบริการ
“เราทุกคนจะทำอย่างไรได้บ้าง ถึงจะช่วยองค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ผมขอแนะนำเป็นข้อ ๆ นะครับ มาฟังกันเลย”
- ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือ ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม หรือลดผลกระทบเชิงลบให้เหลือน้อยที่สุดโดยให้มีการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การคัดแยกขยะ และให้เหลือขยะมูลฝอยให้น้อยที่สุด
- มีการเก็บบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ และตรวจวัดประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เพื่อนำไปวางแผนปรับปรุงในการลดผลกระทบด้านลบหรือมลพิษ รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น
- ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม และ ยกระดับการดำเนินงานให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งของไทย และในระดับสากล เช่น ISO 14001, Green Industry, Green Office, Green Label, Carbon Footprint for Organization - CFO, Carbon Footprint for Product - CFP เป็นต้น
- ส่งเสริม และสนับสนุนกิจกรรมในการให้ความรู้กับพนักงานทุกคน รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดความเข้าใจ ความตระหนัก และจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน รวมถึงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลต่อธุรกิจระยะยาว เนื่องจากเมื่อทุกคนมีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว จะส่งผลให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
- การขยายเครือข่ายความรับผิดชอบให้ครอบคลุมทั้งคู่ค้า ผู้ผลิต ผู้จัดหาวัตถุดิบ ลูกค้า สังคม หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจทั้งหมด คือ ตลอดทั้ง Supply Chain ให้ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
ถ้าเราทุกคน ทุกองค์กร/ หน่วยงานปฏิบัติตามทั้ง 6 ข้อข้างต้นนี้แล้ว จะสามารถช่วยตอบโจทย์ตามหลักของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติในหลายด้านได้อีกด้วยนะครับ โดยเฉพาะในข้อที่ 13 Climate Action คือ การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ช่วยให้องค์กรดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ที่คำนึงถึงทั้งด้านเศรษฐกิจที่ดี สังคมที่มีความสุข และสิ่งแวดล้อมยั่งยืนตลอดไปครับ
อ้างอิง
- เฟรนด์, กิล. (2557). เขียวเปลี่ยนโลก [The Truth About Green Business] (สฤณี อาชวานันทกุล, ผู้แปล). กรุงเทพฯ. โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์.
- พอล ฮอว์เกน. (2557). การค้ากับนิเวศ [The Ecology of Commerce A Declaration of Sustainability] (เพ็ญนภา หงส์ทอง, ผู้แปล). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.
- บรอนการ์ต, ไมเคิล และ แมคโดโน, วิลเลี่ยม. (2555). เปลี่ยนเส้นตรงให้เป็นวงกลม [Cradle to Cradle] (สุภาภรณ์ กาญจน์วีระโยธิน, ผู้แปล). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์มติชน.