จากที่เราได้รับความรู้เกี่ยวกับ ภาวะโลกร้อน ภาวะเรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปแล้ว เราก็จะขอขยับมาที่เรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน หรือในการทำงาน ที่จะสามารถมีส่วนช่วยลดโลกร้อนกัน จากเรื่องการใช้กระดาษกัน
สถิติคนไทยเราใช้กระดาษเฉลี่ยคนละ 50 กิโลกรัมต่อปี โดยทั่วประเทศนั้นมีความต้องการกระดาษทุกชนิดรวมกันประมาณ 3.6 ล้านตันต่อปี (ข้อมูลในปี 2559) ไม่ว่าจะเป็นกระดาษที่นำไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์ หนังสือพิมพ์ กระดาษสำหรับเขียน สำหรับพิมพ์ และอื่น ๆ
โดยในการผลิตกระดาษทั่วไป 1 ตัน จากเยื่อไม้บริสุทธิ์ (Virgin pulp) จะต้องใช้ ไม้ยูคาลิปตัสอายุ 5 ปี จำนวน 17 ต้น ใช้ไฟฟ้าจำนวน 4,100 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ใช้น้ำถึง 31,500 ลิตร และมีการปล่อยมลพิษคือ คลอรีน สู่สิ่งแวดล้อมประมาณ 7 กิโลกรัม
ซึ่งเราสามารถมีส่วนช่วยในการลดโลกร้อนจากการใช้กระดาษได้ดังนี้
- ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากขึ้น เช่น ไม่พิมพ์กระดาษออกมา แต่ใช้การดาวน์โหลดไฟล์แทน หรือส่งไฟล์เอกสารต่าง ๆ ทางอีเมลแทนการพิมพ์กระดาษส่ง
- ใช้กระดาษให้ครบทั้ง 2 หน้า เมื่อใช้ครบทั้ง 2 หน้าแล้วก็นำไปบริจาคให้เป็นประโยชน์กับคนตาบอดต่อไป เพื่อใช้ประโยชน์เป็นหน้าที่ 3 ต่อไปก็ได้นะครับ
- สร้างสรรค์ ประดิษฐ์ หรือตกแต่ง เป็นสิ่งของที่ใช้ได้จากกระดาษสี หรือกระดาษนิตยสารต่าง ๆเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้ของใช้เก๋ไก๋ อวดไอเดียเจ๋ง ๆ กันไป
- นำซองกระดาษ ถุงกระดาษ หรือลังกระดาษ มาใช้ซ้ำ
- กระดาษที่ไม่ใช้แล้ว ให้เก็บรวบรวม และคัดแยก เพื่อนำไปบริจาค หรือขายให้กับหน่วยงานที่รับซื้อ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ Recycle ต่อไป
เห็นมั้ยครับว่า ไม่ยากเลย ที่พวกเราจะช่วยกันลดโลกร้อนจากการใช้กระดาษ ซึ่งกระดาษทุกชนิดนั้นสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดเลยนะ เพราะคนที่รับกระดาษจากเราไป สามารถนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น กระดาษขาวสำหรับเขียน กระดาษสมุดและหนังสือ เป็นต้น
เพียงเราช่วยกันลดการใช้กระดาษ ก็เท่ากับเราได้ช่วยให้โลกใบนี้มีต้นไม้ที่คอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดโลกร้อน แถมยังช่วยเพิ่มออกซิเจนให้เรามีอากาศดี ๆ กันด้วย
อ้างอิง
- กองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2559). คู่มือการสร้างวินัย สู่การจัดการขยะที่ยั่งยืน. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ
- บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด. คุณรู้หรือไม่ว่าการใช้กระดาษรีไซเคิลช่วยลดโลกร้อนอย่างไร?.