ปัญหาขยะพลาสติกนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกเราทีเดียว เนื่องจากขยะพลาสติกส่งผลกระทบร้ายแรงด้านระบบนิเวศ รวมถึงปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) จากกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่ปัญหาภาวะโลกร้อน
- พบว่ามีขยะพลาสติกมากถึง 88 ล้านตันสะสมอยู่ในทะเลและมหาสมุทร
80 ล้านตันเป็นขยะที่มาจากบนบก ทุกวันจะมีขยะพลาสติกมากถึง 8 ล้านตันไหลลงสู่ทะเล
- สถานการณ์ขยะพลาสติกในประเทศไทย (จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) พบว่าในปี 2560
มีการใช้พลาสติกเพื่อบรรจุภัณฑ์ (Packaging) มากที่สุดถึง 2.33 ล้านตัน
โดยส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single – use Plastic) ก่อให้เกิดขยะประเภทถุงร้อน ถุงหูหิ้ว หลอดพลาสติกกว่า 1.93 ล้านตัน แต่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 0.39 ล้านตัน โดยส่วนที่เหลือตกค้างอยู่ในกองขยะประมาณ 1.51 ล้านตัน และหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมอีกกว่า 0.03 ล้านตัน
โดยพลาสติกสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- พลาสติกประเภท เทอร์โมเซตติ้ง (Thermosetting)
พลาสติกอร์ประเภทนี้หลอมเหลวได้ในการขึ้นรูปครั้งแรกเท่านั้น ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ โพลิเม เช่น เบคเคอไลต์ และ เมลามีน ที่ใช้ผลิตภาชนะบรรจุอาหารประเภทถ้วย จาน เมลามีน หรือ ลังพลาสติกที่ใส่ผัก ผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น
- พลาสติกประเภท เทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic)
พลาสติกประเภทนี้ สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ซึ่งจะมีสัญลักษณ์หรือหมายเลขกำกับอยู่ที่ตัวผลิตภัณฑ์ ดังนี้
พลาสติกที่มีสัญลักษณ์หมายเลข 1
คือ พอลิเอทธิลีนเทเรฟธาเลท (Polyethylne Terephthalate) หรือ เพ็ท (PET หรือ PETE) เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำมันพืช และขวดใสต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งพลาสติกประเภทนี้สามารถนำมารีไซเคิลเป็นเส้นใย สำหรับทำเสื้อ และใยสังเคราะห์สำหรับใช้ในหมอนได้ เป็นต้น
พลาสติกที่มีสัญลักษณ์หมายเลข 2
คือ พอลิเอธิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene) หรือที่เรียกแบบย่อว่า เอชดีพีอี (HDPE) ใช้ทำขวดนม บรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำยาทำความสะอาด ยาสระผม เป็นต้น พลาสติกประเภทนี้สามารถนำมารีไซเคิลเป็นขวดน้ำมันเครื่อง ท่อ ไม้เทียม เป็นต้น
พลาสติกที่มีสัญลักษณ์หมายเลข 3
คือ พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride) หรือที่เรียกว่า พีวีซี (PVC) ใช้ทำท่อประปา สายยางใส แผ่นฟิล์มสำหรับห่ออาหาร เป็นต้น พลาสติกประเภทนี้สามารถนำมารีไซเคิลเป็นท่อน้ำประปา หรือ กรวยจราจร ม้านั่งพลาสติก ตลับเทป เป็นต้น
พลาสติกที่มีสัญลักษณ์หมายเลข 4
คือ พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene) หรือ แอลดีพีอี (LDPE) ใช้ทำฟิล์มสำหรับห่ออาหารและห่อของ ถุงเย็นสำหรับบรรจุอาหาร โดยพลาสติกประเภทนี้สามารถนำมารีไซเคิลเป็นถุงดำสำหรับใส่ขยะ ถุงหูหิ้ว ถังขยะ กระเบื้องปูพื้น เป็นต้น
พลาสติกที่มีสัญลักษณ์หมายเลข 5
คือ พอลิโพรพิลีน (Polypropylene) หรือ พีพี (PP) ใช้ทำภาชนะบรรจุอาหาร เช่น กล่อง ชาม จาน ถัง ตะกร้า ขวดซอส แก้วโยเกิร์ต ขวดบรรจุยา พลาสติกประเภทนี้สามารถนำมารีไซเคิลเป็น ชิ้นส่วนรถยนต์ ไม้กวาดพลาสติก แปรง เป็นต้น
พลาสติกที่มีสัญลักษณ์หมายเลข 6
คือ พอลิสไตรีน (Polystyrene) หรือเรียกย่อว่า พีเอส (PS) ใช้ทำภาชนะบรรจุของใช้ต่าง ๆ เช่น โฟมใส่อาหาร เป็นต้น พลาสติกประเภทนี้นำมารีไซเคิลเป็น ไม้แขวนเสื้อ ไม้บรรทัด กระเปาะเทอร์โมมิเตอร์ แผงสวิตช์ไฟ เป็นต้น
พลาสติกที่มีสัญลักษณ์หมายเลข 7
คือ พลาสติกประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีระบุชื่อเฉพาะ โดยไม่ใช่พลาสติกใน 6 ประเภท แต่เป็นพลาสติกที่นำมารีไซเคิลหลอมใหม่ได้ ใช้ทำเป็นถังน้ำ เป็นต้น โดยพลาสติกประเภทนี้สามารถนำมารีไซเคิลเป็น แกลลอน ถังพลาสติก เป็นต้น
จากข้อมูลข้างต้น เห็นได้ว่า พลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ที่มีสัญลักษณ์หมายเลข 1 ถึง 7 กำกับอยู่นั้น สามารถนำมารีไซเคิลได้ทั้งสิ้น
อ้างอิง
- กองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2559). คู่มือการสร้างวินัย สู่การจัดการขยะที่ยั่งยืน. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ
- Juniper, T. (2018). How we’re F***ing up our planet. (First Published). New York: DK Publishing.
- https://www.greenpeace.org/thailand/explore/resist/plastic/harm-plastic/
- ดร. ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา, ภาวินี พงศ์พันธ์พฤทธิ์, ดร.กริชชาติ ว่องไวลิขิต และ ศาสตราจารย์ ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2563). ขยะพลาสติก... เราจะทำยังไงดี? : แบน ทดแทน หรือ ปรับพฤติกรรม. กรุงเทพฯ.