ลดโลกร้อนจากการ “งดใช้โฟม”

สวัสดีครับทุกคน ในบทที่แล้วได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการลดโลกร้อนจากการใช้พลาสติกไปแล้วนะครับ ในบทนี้ผมจะมาชักชวนทุกคนลดโลกร้อนจากการ “งดใช้โฟม” กันนะครับ ใช่ครับ กล่องโฟมที่ทุกคนรู้จัก และใช้ใส่อาหารเพื่อความสะดวกสบายในการใส่อาหารเพื่อนำกลับไปรับประทานที่บ้าน วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังครับว่าโฟมนี้มีผลกระทบกับมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อย่างไรบ้าง

care-the-bear-20-op-final-01

           โดยเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้วมีการคิดค้นโฟมโพลีสไตรีน (EPS ; Expandable Polystyrene หรือ Styrofoam) ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก ส่งผลให้โลกของเรามีการใช้โฟมมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งแท้จริงแล้ว “โฟม” คือ พลาสติกที่ฟูหรือถูกทำให้ขยายตัวด้วยก๊าซที่ใช้เป็นตัวทำให้พลาสติกฟู (Blowing Agent) โดยโฟมนั้นสามารถผลิตได้จากวัตถุดิบพลาสติกที่หลากหลายชนิด เช่น พี อี (Polyethylene : PE) พี ยู (Polyurethane : PU) และ พี เอส (Polystyrene : PS) ซึ่งโฟมที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นขยะมูลฝอยและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น คือ พีเอส (Polystyrene : PS)

โฟมที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เช่น ถาดหรือกล่องอาหารนั้น คือโฟมโพลีสไตรีนชนิดแผ่น (Polystyrene Paper : PSP)  ซึ่งมีสัดส่วนการใช้งานสูงมากเมื่อเทียบกับโฟม EPS และเป็นโฟมที่เมื่อกลายเป็นขยะมูลฝอยแล้วจัดการหรือทำลายยาก ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายยาวนานมาก เพราะโฟมมีความคงทนและสามารถทนต่อแรงอัดสูง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าอาจใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 1,000 ปี  และการนำไปเผาทำลายก็จะเกิดมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจกซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

นอกจากนั้นแล้ว โฟม เมื่อถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะในสิ่งแวดล้อม ก็จะแตกหักออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งเมื่อยิ่งเล็กนี่แหละครับ ก็จะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาและยากต่อการกำจัด ซึ่งโฟมนี้ถือว่าทำจากพลาสติก ซึ่งข่าวร้ายคือเม็ดพลาสติกนั้นสามารถดูดซับสารพิษได้ดี เมื่อปลาและสัตว์ขนาดเล็กกินเข้าไปก็จะสะสมสารพิษในร่างกายส่งผลต่อระบบฮอร์โมนและการสืบพันธุ์ เมื่อปลา และสัตว์ทะเลต่าง ๆ กินพลาสติกเข้าไป ซึ่งมีทั้งที่เป็นไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติก และมนุษย์เราก็รับประทานปลาและอาหารทะเล ต่าง ๆ เหล่านี้ สุดท้ายทั้งไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติกก็เข้ามาสะสมในร่างกายมนุษย์ ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มากมาย กลายเป็นวัฏจักรกลับมาส่งผลกระทบให้กับมนุษย์ซึ่งเป็นต้นเหตุนั่นเอง

และสิ่งที่สนใจไปกว่านั้น คือ การนำกล่องโฟมมาบรรจุอาหารที่ร้อนจัด รวมถึงอาหารทอดที่มีน้ำมันหรือไขมันเป็นส่วนประกอบ จะส่งผลให้มีการปล่อยสารโมเลกุลใหญ่หรือสารประกอบบางชนิดออกมา และอาจมีสารพิษไม่ทราบชนิดที่มีผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว และสารบางอย่างสะสมในร่างกายก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยเมื่อโฟมบรรจุอาหารที่มีความร้อนสูงจะให้สาร 2 ชนิด คือ สไตรีน (Styrene) และ เบนซีน (Benzene) ซึ่งการรับประทานอาหารจากกล่องโฟม ติดต่อกันนาน 10 ปี เสี่ยงเป็นมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า ซึ่งขณะนี้หลายประเทศได้มีมาตรการไม่ใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารอย่างเด็ดขาดแล้ว

นี่แหละครับ จึงเป็นเหตุผลที่ผมอยากชวนทุกคนได้เริ่มต้นจากสิ่งง่ายๆ ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันให้ช่วยกันลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นในทุกวัน เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ด้วยการ “งดใช้โฟม” เพราะกล่องโฟมที่ใช้บรรจุอาหารนี้ถือเป็น บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Used) ซึ่งถือได้ว่ามีอายุการใช้งานที่แสนสั้นมาก เพียงไม่ถึงชั่วโมง หรือเพียงไม่กี่นาที กล่องโฟมที่ใส่อาหารนี้ก็จะกลายเป็นขยะ ที่ทำให้เราต้องจัดการกับมันด้วยงบประมาณที่มากมาย ซึ่งจากรายงานของธนาคารโลก ระบุว่า ค่าใช้จ่ายการจัดการขยะนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี จากปีละ 205.5 พันล้านดอลล่าร์ในปัจจุบัน จะขยับเป็น 375.5 พันล้านดอลล่าร์ในปี พ.ศ. 2568 ขณะที่ในประเทศไทยนั้น ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณค่ากำจัดขยะปีละกว่า 6 พันล้านบาท ส่วนของกรุงเทพมหานครนั้น ได้มีการจัดสรรงบประมาณให้แผนงานรักษาความสะอาดถึงราว 5 พันล้านบาทต่อปี คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ถึง 95.6 % ของทั้งประเทศ ซึ่งงบประมาณเหล่านี้ต่างล้วนมาจากภาษีของเราทุกคนนั่นเอง ขณะที่ค่าธรรมเนียมเก็บขยะนั้นได้มาเพียงไม่ถึง 10 % ของงบประมาณที่ต้องใช้ และจากข้อมูลพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยทิ้งขยะโฟมประมาณวันละ 1 ใบ ซึ่งปริมาณขยะโฟมในแต่ละวันนั้นมีมากถึง 61 ล้านใบต่อวันเลยทีเดียวนะครับ

ดังนั้น เรามา ลด ละ เลิก และงดใช้โฟม กันนะครับ หยุดการใช้ของครั้งเดียวแล้วทิ้ง หันมาใช้ของที่ใช้ซ้ำได้ เลือกซื้อของคุณภาพดีที่ทนทาน หรือใช้วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หันมาใช้ปิ่นโต หรือ กล่องข้าว ในการใส่อาหารต่าง ๆ ซึ่งร้านอาหารบางร้านแม่ค้าจะลดราคาอาหารให้กับเราด้วยนะครับ ได้ประหยัดเงินในกระเป๋าเรา ได้ช่วยประเทศให้ประหยัดงบประมาณในการกำจัดขยะ และที่สำคัญช่วยลดผลกระทบจากไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติกให้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้ รวมถึงตัวมนุษย์เองด้วยนะครับ มา “งดใช้โฟม” กันนะครับ

 

อ้างอิง

  • ศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). (2561). คู่มือสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society Guidebook). (พิมพ์ครั้งที่ 4). บริษัท ปารวี พริ้นติ้ง จำกัด
  • ศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). (2560). OPERATION LOW CARBON PROJECT 2 SAVE & CHANGE. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ. บริษัททวีวัฒน์การพิมพ์ จำกัด
  • https://packaging.oie.go.th/new/admin_control_new/html-demo/file_technology/pdf
  • https://www.ocpb.go.th/download/article/article_pdf
  • http://www.mnre.go.th/reo13/th/news/detail/9448