สำหรับคนทั่วไป หากอากาศร้อนหรือเย็นขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส เราอาจจะไม่รู้สึกหรือสัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่สำหรับโลกใบใหญ่ เมื่ออุณหภูมิร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ทุกอย่างอาจเลวร้ายกว่าที่เราคิด
เพราะตอนนี้พวกเราทุกคนกำลังอยู่ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของเหตุการณ์ที่เรียกว่า “วิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” อันเกิดจากก๊าซเรือนกระจก ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางลบต่างๆ มากมาย
นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้พยายามเตือนพวกเราว่า มนุษยชาติต้องจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส มิเช่นนั้นการแก้ไขจะทำได้ยาก และผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้วก็จะทวีรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าที่เราเจอกันในวันนี้
หากพวกเราร่วมมือแก้ไขไม่สำเร็จ นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนโลกของเราหลังจากนี้
น้ำทะเลจะสูงขึ้น 0.77 เมตร
ผลกระทบแรกๆ ที่เราเคยได้ยินคือ เมื่อโลกร้อนขึ้นจะทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว และการละลายของน้ำแข็งนั้นก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลบนโลกสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในอุณหภูมิที่สูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสนั้น นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์เอาไว้ว่า น้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นมากถึง 0.77 เมตรเลยทีเดียว ประเทศที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กหลายแห่งจะเสียพื้นที่ชายฝั่งไป เช่น ประเทศตูวาลู และจะเกิดการอพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่ของผู้คนโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก
น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกจะหายไปในทุก 10 ปี
ตามปกติแล้ว ไม่ว่าฤดูไหนมหาสมุทรอาร์กติกจะไม่เคยสิ้นแผ่นน้ำแข็ง แต่หากโลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก็มีโอกาสทำให้น้ำแข็งในอาร์กติกจะหายไปทั้งหมดในช่วงฤดูร้อนทุกๆ 10 ปี ซึ่งหากมหาสมุทรอาร์กติกไม่มีน้ำแข็งเลย ก็ยิ่งทำให้โลกของเราร้อนมากและร้อนเร็วยิ่งกว่าเดิม เพราะน้ำทะเลที่เป็นสีน้ำเงินเข้มจะดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้ ตรงข้ามกับแผ่นน้ำแข็งสีขาวที่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนความร้อน
ชีวิตประจำวันจะร้อนขึ้น
ในบางภูมิภาคของโลก อุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3 องศาเซลเซียส ในวันที่มีอากาศร้อนจัด ฤดูร้อนจะกินเวลายาวนานขึ้น ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนจะปกคลุมบางภูมิภาคถี่ขึ้น เฉลี่ยจะเกิดขึ้นทุกๆ 5 ปี สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นนอกจากจะส่งผลต่อสภาพร่างกายของเราโดยตรงแล้ว ยังทำให้โรคที่เกิดจากพาหะ เช่น ไข้มาลาเรียหรือไข้เลือดออกจะระบาดหนัก
427 ล้านคน จะขาดอาหารและน้ำสะอาด
อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงขึ้นด้วย ประเทศที่อยู่ในโซนแห้งแล้งก็จะแล้งหนักยิ่งขึ้น จนไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชอาหาร หรือหาน้ำสะอาดได้ยากขึ้น เพราะธารน้ำแข็งบนภูเขาจะละลายหายไปจนหมด ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่า เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส จะกระทบประชาชนอย่างน้อย 427 ล้านคน และตอนนี้โลกได้ฉายหนังตัวอย่างให้เราได้เห็นกันบ้างแล้วในประเทศมาดากัสการ์ และตอนเหนือของประเทศเคนยา ที่กำลังเกิดภัยแล้งรุนแรงจนประชาชนหลายแสนคนป่วยด้วยโรคขาดสารอาหารทั้งเด็กและผู้ใหญ่
216 ล้านคน อาจต้องย้ายบ้าน
ความแห้งแล้งจะทำให้คนบางภูมิภาคเพาะปลูกอะไรก็ไม่งอกงาม ขณะที่บางส่วนของโลกจะเจอภัยพิบัติรุนแรงจนบ้านเรือนพังทลาย บางส่วนก็อาจสูญเสียที่ดินจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้คาดว่าทำให้ผู้คนกว่า 216 ล้านคนทั่วโลกต้องย้ายบ้านหนีภัยพิบัติ และธนาคารโลกคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2050 แม้ว่าบางส่วนอาจเป็นการอพยพเพียงชั่วคราว แต่มีไม่น้อยที่ต้องย้ายบ้านเป็นการถาวร
แนวปะการังทั่วโลกลดลง 70-90 %
ปะการังถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวมาก ถ้าน้ำทะเลอุ่นขึ้นแม้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เช่น ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ปะการังก็จะอ่อนแอหรือตายลง หรือที่เราเรียกกันว่า “ปะการังฟอกขาว” นั่นเอง ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับแนวปะการัง 90 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก จะกระทบต่อสัตว์ในทะเลที่อาศัยปะการังเป็นบ้าน เป็นแหล่งอาหาร ทำให้ปลาน้อยใหญ่ลดหายตามไป สุดท้ายมนุษย์เราก็จะสูญเสียทั้งแหล่งอาหารที่ได้จากการทำประมงไปถึงปีละ 1.5 ล้านตันเลยทีเดียว
สัตว์เฉพาะถิ่นสูญพันธุ์
ระบบนิเวศบนบกจะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เพราะพื้นที่จะได้รับความเสียหายจากความร้อนที่ปกคลุม ภายในปี 2100 สัตว์ที่มีอยู่อาศัยเฉพาะถิ่นจะค่อยๆ สูญพันธุ์ เช่น หมีขั้วโลก เสือโคร่งเบงกอลในซุนดาบันส์ เสือดาวหิมะ เพนกวินจักรพรรดิ อันมีเหตุมาจากการหายไปของที่อยู่อาศัย สถานที่สืบพันธุ์ที่เหมาะสม และการสูญเสียพืชอาหาร แม้จะยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่าสัตว์จะหายไปกี่ชนิด แต่เมื่อสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งหายไป มันจะส่งผลกระทบแบบโดมิโนทำให้สัตว์ชนิดอื่นๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามไปด้วย
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างคร่าวๆ และเหตุผลว่า ทำไมนักวิทยาศาสตร์ถึงจริงจังกับการจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้ร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แน่นอนว่าไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์ แต่พวกเราทุกคนเองก็ควรคำนึกถึงประเด็นนี้ ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเราเอง
ปัจจุบันภาคธุรกิจและภาคสังคมต่างเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสภาวะโลกร้อน โดยที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานโดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) จึงริเริ่มโครงการ Care the Bear ภายใต้แนวคิด “Change the Climate Change” ร่วมกับพันธมิตรกว่า 200 องค์กร โดย Care the Bear จะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยสร้างจิตสำนึก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสมาชิกในองค์กรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดกิจกรรมหรือการประชุม เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนการลดสภาวะโลกร้อน สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) ข้อที่ 13 “Climate Action”
เหตุผลที่เราหยิบยกโครงการนี้มาเล่าให้ฟังก็เพราะว่าเป็นโครงการที่ปฏิบัติได้ง่าย จับต้องได้ วัดผลได้ และที่สำคัญสามารถสร้างจิตสำนึกของพนักงานองค์กรในการร่วมลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง โครงการมีการให้คำปรึกษา วางแผน และแนะนำการใช้ Digital Eco Calculator Kit เครื่องมือคำนวณค่าการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสะดวก ใช้งานง่าย สามารถดาวน์โหลดข้อมูลย้อนหลัง โดยผลที่ได้จากการคำนวณนี้สามารถเปิดเผยในรายงานประจำปี หรือรายงานต่างๆ ได้
ไม่ใช่แค่ระดับองค์กรเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมสร้างพฤติกรรมลดโลกร้อน โดยเริ่มต้นจากหลักการ 6 Cares ได้แก่
- รณรงค์ให้เดินทางโดยรถสาธารณะหรือเดินทางมาด้วยกัน
- ลดการใช้กระดาษและพลาสติก
- งดใช้โฟม
- ลดการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
- เลือกใช้วัสดุตกแต่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- ลดการเกิดขยะ ตักอาหารแต่พอดี และทานอาหารให้หมด
ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่เชื่อว่าองค์กรต่างๆ สามารถปฏิบัติตามได้หมด และอย่าลืมว่าความเปลี่ยนแปลงของโลกใบใหญ่ล้วนเริ่มจากพฤติกรรมเล็กๆ ของพวกเราทุกคน มาลดโลกร้อนไปด้วยกัน อย่าให้อุณหภูมิโลกสูงไปมากกว่านี้เลย
เรื่องราวของ BrandThink x CARE THE BEAR ลดโลกร้อน ยังไม่หมดแค่นี้ ยังมีข้อมูลอีกหลากหลาย Episode ที่เราอยากหยิบยกมานำเสนอ ในครั้งหน้าจะเป็นประเด็นไหน รอติดตามได้เลย
หากองค์กรไหน หรือใครสนใจ สามารถติดตามข้อมูลและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญได้ที่ : climatecare.setsocialimpact.com/carethebear
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : ฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โทร. 02-009-9480
อ้างอิง: Yale Climate Connections. 1.5 or 2 degrees Celsius of additional global warming: Does it make a difference? https://bit.ly/3CIFOJc
World Bank.Climate Change Could Force 216 Million People to Migrate Within Their Own Countries by 2050. https://bit.ly/2Xkjirn
The Conversation. New UN report outlines ‘urgent, transformational’ change needed to hold global warming to 1.5°C. https://bit.ly/3xgkppY