Net Zero คืออะไร แล้วเราต้องทำอย่างไรจึงจะลดก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จ

 

 netzero_resizeระยะนี้เราคงได้ยินคำว่า “Net Zero” กันอยู่บ่อยๆ

ยิ่งเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เพิ่งมีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) คำๆ นี้ก็ถูกย้ำทั้งจากผู้นำประเทศ นักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม และสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นไปอีก

ในที่นี้เราอยากมาทบทวนกันอีกครั้งว่า Net Zero คืออะไร และสำคัญอย่างไร 

รวมถึงเรื่องที่ว่าเราจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคม Net Zero ได้อย่างไร

หากว่ากันตามความหมาย Net Zero หรือ ‘เป้าหมายสุทธิที่ศูนย์’ ก็คือ การไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติม 

หรือในอีกมุมหนึ่งก็คือการจำกัดอุณหภูมิให้สูงไม่เกิน 1.5 องศา เพื่อป้องกันไม่ให้โลกร้อนและรวนหนักไปกว่าที่เป็นอยู่ หรือไปสู่จุดที่กลับมาแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว

แล้วเราต้องทำอย่างไรบ้าง ถึงจะบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ได้ 

กำหนดเป้าหมาย  NDCs

NDCs หรือที่เรียกว่า การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions) คือ แผนที่แต่ละประเทศกำหนดว่าตัวเองจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการกำหนดนโยบายและหาทางลงมือปฏิบัติ ขณะเดียวกันแผนนี้ก็ต้องถูกปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ตรงกับสภาพความเป็นจริงของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ยังเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดในปัจจุบัน 

ยุติยุคถ่านหิน

ถ่านหินคือเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกที่สุด องค์การพลังงานสากลระบุอย่างชัดเจนว่าหากเรายังไม่ยุติการใช้ถ่านหินก็แทบไม่มีทางที่เราจะจำกัดอุณหภูมิให้อยู่ในกรอบ 1.5 องศา เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 40% ทั่วโลกจะต้องปิดตัวลงภายในปี 2030 โดยไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่

ลดก๊าซมีเทน

ในที่ประชุม COP26 ผู้แทนจากกว่า 100 ประเทศ เห็นชอบกับโครงการตัดลดการปล่อยมีเทนลง 30% ภายในปี 2030 มีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สร้างความเสียหายมากที่สุด ราว 1 ใน 3 ของการกระทำของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนเกี่ยวข้องกับการปล่อยมีเทน ของปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์ มีเทนส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมต่างๆ อย่างการทำปศุสัตว์และการกำจัดของเสีย

เพิ่มพลังงานหมุนเวียน

ภายในปี 2050 พลังงานไฟฟ้าทั่วโลกจะต้องถูกผลิตโดยพลังงานสะอาดให้ได้ 70-85% การลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและปล่อยคาร์บอนต่ำจะต้องเพิ่มมากขึ้นสองเท่า

กรอบเวลา 2030 – 2050  

นับเวลา 10 ปีต่อจากนี้ ถือเป็นช่วงสำคัญของการลงมือลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากจะกำจัดอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศา อย่างน้อยๆ ที่สุด ภายในปี 2030 จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 45% และจะต้องลดลงให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 

การฟื้นฟูป่า

การฟื้นฟูป่าไม้เป็นการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดในวันนี้ เนื่องจากป่าเป็นเครื่องมือทางธรรมชาติที่ดักจับคาร์บอนฯ และชดเชยปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกไปได้ดีที่สุด แต่การฟื้นฟูป่าไม้ต้องทำไปพร้อมกับการปกป้องพื้นป่าที่มีอยู่แล้ว ไม่ให้เสียหายมากยิ่งไปกว่าเก่า

การสนับสนุนเงินทุน

แม้จะมีแผนงาน NDCs แต่ก็ใช่ว่าทุกประเทศจะทำได้ตามแผน เพราะนี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมพลังงานทั้งโลกไปพร้อมๆ กัน ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนอาจขาดความพร้อมในสิ่งเหล่านี้ ประเทศที่ร่ำรวยจึงจำเป็นต้องเติมเงินสนับสนุน ให้กับประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่า 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

หลายๆ อย่างอาจฟังเหมือนเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องใหญ่ เป็นงานระดับนโยบาย เราคงทำกันไม่ได้หรอก 

แต่จริงๆ แล้ว การลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์นั้นสามารถทำได้ในหลายระดับ และเชื่อมโยงกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการงานที่เราทำได้ไม่ยากเย็น

ดังตัวอย่าง โครงการ Care the Bear “Change the Climate Change” ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ริเริ่มโครงการตั้งแต่กลางปี 2561 ร่วมกับพันธมิตร ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และธุรกิจเพื่อสังคม ช่วยกันขับเคลื่อนการลดภาวะโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  โดยโครงการ Care the Bear จะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยสร้างจิตสำนึก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสมาชิกในองค์กร ในการร่วมลดก๊าซเรือนกระจกจากการจัดกิจกรรม หรือการประชุม

ทำไมถึงต้องเน้นที่อีเวนท์ 

เนื่องจากการจัดกิจกรรมต่างๆ นั้นมีการใช้พลังงานทั้งส่วนของการจัดงาน การใช้ไฟฟ้า วัสดุตกแต่ง การเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน การใช้พลังงานในการปรุงอาหาร สิ่งเหลือทิ้งจากการจัดงาน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อนด้วยกันทั้งนั้น

ฉะนั้น หากสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมเหล่านี้ได้ ก็ถือเป็นการช่วยให้ประเทศและโลกของเราขยับสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ไวขึ้น   

โครงการ Care the Bear มุ่งเน้นการให้ความรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก ให้คำปรึกษา วางแผน และแนะนำการใช้ Digital Eco Calculator Kit  เครื่องมือคำนวณค่าการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสะดวก ใช้งานง่าย  ผลที่ได้จากการคำนวณสามารถนำมาวางแผนหรือกำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการ ออกแบบกิจกรรม หรือกระบวนการทำงานแต่ละโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถเปิดเผยในรายงานประจำปี หรือรายงานต่างๆ ได้

โครงการจะเน้นแนวทางสำคัญ 6 เรื่อง ได้แก่

  1. รณรงค์ให้เดินทางโดยรถสาธารณะหรือเดินทางมาด้วยกัน
  2. ลดการใช้กระดาษและพลาสติก
  3. งดใช้โฟม
  4. ลดการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
  5. เลือกใช้วัสดุตกแต่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
  6. ลดการเกิดขยะ ตักอาหารแต่พอดี และทานอาหารให้หมด

ปัจจุบันโครงการ Care the Bear มีพันธมิตรกว่า 200 องค์กร ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และธุรกิจเพื่อสังคม สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้  12,383 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการดูดซับ CO2/ปี ของต้นไม้จำนวน 1,375,939 ต้น หรือเทียบเท่ากับการดูดซับ CO2/ปี ของป่าสมบูรณ์จำนวน 12,383 ไร่

เรื่องราวของ BrandThink x CARE THE BEAR ลดโลกร้อน ยังไม่หมดแค่นี้ ยังมีข้อมูลอีกหลากหลาย Episode ที่เราอยากหยิบยกมานำเสนอ ในครั้งหน้าจะเป็นประเด็นไหน รอติดตามได้เลย

สุดท้ายนี้ อย่าลืมว่า ภาวะโลกร้อน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นเรื่องของใคร คนใด คนหนึ่ง หรือประเทศใด ประเทศหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน ทุกหน่วยงาน และทุกประเทศบนโลกใบนี้ 

มาร่วมมือกันรักษาสภาพแวดล้อม ก่อนอะไรๆ จะสายเกินไป ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต 

หากองค์กรไหน หรือใครสนใจ สามารถติดตามข้อมูลและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญได้ที่ : climatecare.setsocialimpact.com/carethebear

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โทร. 02-009-9480