โลกของเราอุ่นขึ้น และมีอุณหภูมิสูงขึ้น นับตั้งแต่ยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงปี ค.ศ. 1760 – 1850 (พ.ศ. 2303 – 2393) ซึ่งทำให้โลกของเราเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันนี้หมีขาวอย่างพวกเรา กำลังจะไม่มีบ้านให้อาศัย ไม่มีอาหารกิน และพวกเรากำลังกลายเป็นสัตว์หนึ่งในหลาย ๆ ชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ พวกผม (หมีขาว) ขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจกับ ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ปรากฎการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบกับทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ มาติดตามกันนะครับ
จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความผิดปกติของอุณหภูมิโลก พบว่าในปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นแล้วประมาณ 1 oC เมื่อเทียบกับอุณหภูมิกรณีฐาน (อุณภูมิเฉลี่ยปี 1981-2010 ที่ 13.9 oC) ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอุณภูมิโลกนั้นเกิดจากอิทธิพลของปรากฎการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ที่ทำให้โลกของเรามีความอบอุ่น โดยก๊าซเรือนกระจกที่ห่อหุ้มโลกของเราไว้นี้ จะทำหน้าที่ดูดซับความร้อนจากรังสีดวงอาทิตย์ไว้บางส่วน และสะท้อนกลับออกไปนอกโลกบางส่วน ดังนั้นหากโลกของเราไม่มีก๊าซเรือนกระจกห่อหุ้มโลกของเราไว้เลย จะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกติดลบถึง - 20 องศาเซลเซียส แต่ปัจจุบันได้เกิดเหตุการณ์ตรงกันข้าม คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ห่อหุ้มโลกของเราไว้ ได้มีปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รังสีความร้อนสะท้อนกลับออกไปนอกโลกได้น้อยลง และก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากนี้ก็ทำการดูดซับรังสีความร้อนไว้มากเกินไป โลกของเราจึงร้อนขึ้น หรือที่เราเรียกกันว่า “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ซึ่งตอนนี้อุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกของเราสูงกว่าอุณหภูมิกรณีฐาน (อุณภูมิ baseline) แล้วประมาณ 1 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change) ซึ่งเป็นสาเหตุของสภาพอากาศที่แปรปรวน เกิดพายุมากขึ้น น้ำท่วม เกิดการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น บางประเทศที่เป็นเกาะจะจมบาดาลในที่สุด ฤดูกาลแปรเปลี่ยน อากาศร้อนยาวนานขึ้น หิมะตกผิดฤดู และทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ละลายเร็วขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นล้วนเกิดจากฝีมือของมนุษย์ ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับมนุษย์ แต่ความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นก็สามารถบ่งบอกได้ถึงการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศนั้นมีผลต่อการดำรงชีวิต และเป็นภัยคุกคามโดยตรงของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตเพื่ออยู่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยลง เพื่อลดความเสี่ยงและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจเป็นการช่วยชะลอให้บ้านของพวกเราหมีขาวยังคงเป็นบ้าน มีอาหารให้กิน และไม่ต้องกลัวที่จะสูญพันธุ์ไป
ทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่เพื่อหมีขาวอย่างพวกเราเพียงอย่างเดียว
แต่เพื่อมนุษย์ทุกคนและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อยู่บนโลกใบนี้ บนบ้านหลังเดียวกัน
อ้างอิง
- แฮรารี, ยูวัล โนอาห์. (2018). เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ (ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์,
ผู้แปล). กรุงเทพฯ : ยิบซี กรุ๊ป. - https://www.climate.gov/news-features/understanding-climate/climate-change-global-temperature
- ชวาบ, เคลาส์. (2018). การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่. (ศรรวริศา เมฆไพบูลย์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ : อมรินทร์ฮาวทู อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
- https://www.climate.gov/news-features/understanding-climate/climate-change-global-temperature
- Gore, A. (2007). โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง. An Inconvenient Truth. (พิมพ์ครั้งแรก). กรุงเทพฯ: มติชน.
- Juniper, T. (2018). How we’re F***ing up our planet. (First Published). New York: DK Publishing.
- Joanna, D. (2019). 30-Second Climate (First Published). United Kingdom: Ivy Press