- น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว
- น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกจะหายไป
- บ้านเมืองร้อนขึ้น
- คนจำนวนมากขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาด
- การอพยพครั้งยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้น
- แนวปะการังทั่วโลกลดลง
- สัตว์บางประเภทสูญพันธุ์
ในวันที่พวกเราต่อสู้กับโรคระบาด หลายคนอาจจะลืมไปว่าปัญหาเรื่องโลกร้อนก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่พวกเราต้องเผชิญ ข้อมูลเหล่านี้อาจจะฟังดูน่ากลัว แต่สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นจริง และมันอาจกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ ถ้าเรายังไม่หันมาใส่ใจและดูแลสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง
เพราะฉะนั้น การรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นแค่เรื่องที่ต้องทำตามเทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่น เพื่อให้โลกใบใหญ่สามารถเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยของลูกหลานเราได้ในอนาคต
วันนี้เราจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับองค์กรอีกองค์กรหนึ่งที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
จริงจังถึงขนาดที่ว่าจะเป็นตัวจุดประกายสำคัญให้องค์กรใหญ่ๆ หันมาใช้โมเดลและจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันทั้งประเทศ
แต่เราไม่ได้มาพูดถึงองค์กร NGO หรือองค์กรที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรง วันนี้เราจะมาพูดถึง Care the Bear โครงการจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่หลายคนอาจจะสงสัย ว่าทำไมตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงออกโรงมาดูแลสิ่งแวดล้อมกันแบบจัดเต็ม
เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากพูดถึง ‘ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย’ พวกเรามักจะนึกถึงเรื่องราวของการเงิน การลงทุน หุ้นหรือการทำธุรกิจ
แต่พอเราได้เข้าไปสัมผัสและร่วมพูดคุย เราจะเห็นเลยว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำ PR หรือ CSR แต่ทุกอย่างผ่านการคิด ผ่านกระบวนการออกแบบ เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาจับต้องได้ และเกิดขึ้นได้จริงมากที่สุด
เรามีโอกาสได้คุยกับ ‘พี่เต๋า’ คุณนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้บุกเบิกคนสำคัญกับการริเริ่มโครงการ Care the Bear กับเหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงลุกขึ้นมาเป็นองค์กรสำคัญที่จุดประกายให้สังคมใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และทำไมถึงต้องการทำให้เรื่องการรักษ์โลกมีความเป็นรูปธรรม จับต้องได้ และวัดผลได้มากกว่าแต่ก่อน
เรามาติดตามบทสนทนาระหว่าง BrandThink และผู้เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ได้ที่บทความนี้เลย!
ในช่วงแรก พี่เต๋าเล่าให้เราฟังว่า โครงการ Care the Bear เกิดขึ้นเมื่อประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม 2018 จากแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีจุดยืนองค์กรในการขับเคลื่อนสังคมในมิติต่างๆ ภายใต้วิสัยทัศน์ To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone
ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องการเงินการลงทุนก็เป็นสิ่งที่พวกเขาถนัดอยู่แล้ว แต่คำถามถัดมาก็คือคำว่า Work และ Everyone ในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเงินมันเป็นอะไรได้บ้าง?
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำงานเรื่อง Financial Literacy ค่อนข้างเยอะ มีกิจกรรมให้ความรู้ทางการเงินหรือกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการทางธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะธุรกิจของเราคือการเงิน ดังนั้น กระบวนการที่จะทำให้ Work for Everyone ก็คือการทำให้คนมีความรู้ทางการเงิน ซึ่งเราทำมากว่า 20 ปีแล้ว”
นอกจากการให้ความรู้ทางการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ซึ่งการทำงานในด้านการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ขยายขอบเขตไปสู่สังคมนอกเหนือจากผู้ร่วมตลาดทุน (Stakeholder) ผ่านแพลตฟอร์ม SET Social Impact ตั้งแต่ปี 2016 ภายใต้แนวคิด “Social Impact Multiplier” เป็นการนำเอาศักยภาพเดิมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนความมั่งคั่ง โดยพัฒนาให้เป็นตัวกลางในการขยายเครือข่าย ขยายความร่วมมือ เพื่อขยายผลลัพธ์ทางสังคม ให้กว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด
“ในช่วงแรกเป็นการมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆ ในแบบฉบับ Co-Create เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกัน และในปี 2018 ก็เริ่มพัฒนาแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวันทวีความรุนแรงมากขึ้น”
พี่เต๋าเล่าให้เราฟังว่า ในอดีตเรื่องของสิ่งแวดล้อมยังเป็นประเด็นที่คนยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไหร่นัก ถึงแม้คำว่า ‘Carbon Footprint’ คำว่า ‘โลกร้อน’ หรือ คำว่า ‘Greenhouse Gas’ จะเป็นคำที่เราได้ยินมาโดยตลอด แต่หากมองตามภาพความเป็นจริง ด้วยความที่ยังรู้สึกไกลตัว คนทั่วไปเลยยังไม่รู้สึกอะไร โครงการ Care the Bear จึงถือกำเนิดขึ้นก่อน เพราะพี่เต๋าและทีมเชื่อว่า หากต้องการขับเคลื่อนเรื่อง Change the Climate Change ต้องเริ่มที่พฤติกรรมของเราก่อน
คำถามต่อมาที่หลายคนอาจจะสงสัยก็คือ แล้วทำไมต้องวัดผล เพราะก็มีหลากหลายองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่ก็มีจำนวนน้อยที่จะคิดรูปแบบการวัดผลแบบจริงจัง?
“สิ่งสำคัญคือ เราต้องการเห็นว่าในแต่ละวันเราปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เท่าไหร่ สร้างพลาสติกกี่ชิ้น เพราะถ้าเราไม่เห็นจำนวน เราก็จะไม่รู้ว่าเราสร้างพลาสติกเยอะมากในแต่ละวัน ดังนั้นเราต้องทำให้คนรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ของพวกนี้มีเส้นทางที่ดีกว่าได้ โครงการ Care the Bear มีการนำสูตรคำนวณขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมาใช้เพื่อคำนวณ
Carbon Footprint Activities ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ให้ดูง่ายขึ้น”
เราต้องเล่าเพิ่มเติมให้ฟังว่า Care the Bear เน้นย้ำ 6 ประเด็นสำคัญจากพฤติกรรมที่ทำได้จริงในชีวิตประจำวัน
- รณรงค์ให้เดินทางโดยรถสาธารณะหรือเดินทางมาด้วยกัน
- การลดใช้กระดาษและพลาสติก
- งดใช้โฟม
- ลดการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
- เลือกใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- ลดการเกิดขยะ ตักอาหารแต่พอดี ทานให้หมด
ซึ่งการคำนวณ Benchmark จะทำให้เราเห็นภาพการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้ชัดเจนขึ้น และองค์กรต่างๆ ก็สามารถนำเครื่องมือเหล่านี้ไปต่อยอดได้ในทุกๆ กิจกรรม
“เครื่องมือเป็นสิ่งแรกที่ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยน และพอคนเปลี่ยน มันก็ช่วยขับเคลื่อนสังคมได้อย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นแนวคิดเรื่อง CE (Circular Economy) ก็เป็นอีกหนึ่งการเติบโตของ Ecosystem ที่ยั่งยืน มันเห็นภาพชัดว่าจากเราแล้วมันไปสู่คนอื่นอย่างไร เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างกระบวนการที่มันตอบโจทย์พฤติกรรมของมนุษย์ให้ครบวงจร”
ไม่ใช่แค่ทำภายในองค์กร แต่พี่เต๋าเน้นย้ำว่าแพลตฟอร์มหลากหลายแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมา ต้องการให้เป็นดั่ง Impact Multiplier ให้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตัวจุดประกาย พัฒนาโมเดล และแจกจ่ายออกไป ให้คนทั่วไปและองค์กรต่างๆ มาร่วมทำด้วยกัน
“ตอนนี้ Care the Bear มีสมาชิก 207 บริษัท แต่เราไม่ได้เน้นที่ตัวเลข
เราเน้นที่การขยายผลของบริษัทมากกว่า”
ซึ่งจากประสบการณ์ของพี่เต๋าเอง ก็เชื่อว่าการที่องค์กรต่างๆ ขับเคลื่อนเข้าสู่เรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการรักษ์โลก แต่เชิงธุรกิจและการตลาด การที่แบรนด์หันมาให้ความสำคัญในประเด็นนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการพิจารณาจากกลุ่มผู้บริโภคเช่นกัน
“ล่าสุดของทาง PWC ทำการ Research ว่า 74% ของผู้บริโภคเริ่มพิจารณาเรื่องนี้แล้ว ถ้าคุณจะเป็นสังคมที่เป็นดิจิทัล ณ วันนี้ ผู้บริโภคเริ่มเคลื่อนแล้ว คำว่า Sustainable Consumer หรือ Ethical Consumer มันมีแล้ว”
นอกเหนือจากพี่เต๋า ที่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรายังมีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับองค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ Care the Bear เพื่อสอบถามถึงเรื่องราว และผลลัพธ์ที่ตามมาจากการเข้าร่วมโครงการนี้
โดยกรณีตัวอย่าง ท่านแรกที่เรามีโอกาสได้พูดคุยก็คือ คุณชุติเดช ชยุติ Chief Financial Officer บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
คุณชุติเดชเริ่มเล่าว่า ทางองค์กรได้เริ่มเข้าร่วมโครงการ Care the Bear ตั้งแต่ปี 2019 จากการไปร่วมงาน SET Social Impact งานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จัดขึ้นมา จากนั้นก็รู้สึกประทับใจ และต้องการที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นผู้ดูแลให้คำแนะนำ ทั้งในเรื่องของการจัดงาน การใช้เครื่องมือคำนวณการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ทำให้รู้สึกว่าสามารถตั้งต้นได้ง่าย ทางองค์กรเองก็มีความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายบริษัท
เริ่มต้นจากการจัดตั้งทีมงานจากหน่วยงานต่างๆ ขององค์กรที่มีการจัดกิจกรรมมาทำงานร่วมกัน มีการวางแผน กำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการ ออกแบบกิจกรรม และกระบวนการทำงานของแต่ละโครงการ โดยเริ่มจากการจัดกิจกรรมอบรม สัมมนาให้ความรู้พนักงาน และหลังจากนั้น ได้นำหลักการของโครงการมาใช้จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี มีการลดการใช้กระดาษ ลดการใช้พลาสติก รณรงค์ในผู้ที่มาร่วมงานตักอาหารแต่พอดี และทานให้หมด โดยอาหารที่เหลือก็มีการนำไปแปรรูปเป็นอาหารสำหรับสัตว์ หลังการจัดงานเราก็มีการรายงานให้ผู้เข้าประชุมว่าที่ทุกท่านร่วมปฎิบัติวันนี้ ท่านสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ เทียบเท่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้กี่ต้น ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองมีส่วนช่วยโลกได้เพียงแค่ปฎิบัติง่ายๆ เท่านี้เอง
สำหรับการเดินทางของพนักงาน ทางคุณชุติเดชก็ระบุว่า การเดินทางแบบ Carpool เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางของ Care the Bear มีการโปรโมตให้เดินทางโดยรถสาธารณะ หรือหากใครที่พักอาศัยอยู่ใกล้กันก็ให้เดินทางมาด้วยกัน นอกจากนั้น รถยนต์ของบริษัทก็สนับสนุนให้ใช้น้ำมันรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีการปรับมาใช้รถยนต์ไฮบริดมากขึ้นอีกด้วย
ภายในบริษัทเองได้มีการเปลี่ยนมาใช้ไฟ LED เปลี่ยนมาใช้กระดาษที่เป็น Green ขวดน้ำเป็นขวด PET ที่สามารถรีไซเคิลได้ และในส่วนของแผนกจัดซื้อ ก็มีการเริ่มจัดซื้อของใช้และเฟอร์นิเจอร์ที่จะใช้สำหรับการ Renovate ภายในบริษัทให้เป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง
“เรามีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทุกปี ในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจก เพราะทาง คุณระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เน้นย้ำเสมอว่าการทำเรื่องของ Sustainability ต้องทำด้วยจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้นพนักงานใน KTC ต้องรู้ว่า Sustainability คืออะไร ทำแล้วมีประโยชน์อย่างไร และเราต้องทำอะไร เพราะฉะนั้นทุกวันนี้เราก็เลยพยายามสร้างให้มัน
กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของเรา”
ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากทุกคนในสังคม ทุกคนต้องร่วมมือกัน สิ่งสำคัญก็คือการเชื่ออย่างจริงใจว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ทำมันให้เคยชิน ให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา แล้วเราจะทำมันเป็นเหมือนกิจวัตรประจำวันโดยที่ไม่ได้รู้สึกว่ามันลำบากอะไรเลย
“โครงการ Care the Bear เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ครอบคลุมหลายๆ เรื่อง และก็ทำให้เราสามารถต่อยอดไปในเรื่องอื่นๆ ได้ ที่สำคัญที่สุดคือเรามองเห็นได้ง่ายว่าสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรอให้คนอื่นทำ แต่เป็นเรื่องที่จริง ๆ แล้วเราต้องเริ่มทำ เพื่อที่ทุกคนจะได้รับผลของมัน” – คุณชุติเดชกล่าวทิ้งท้าย
ไม่ใช่แค่ บัตรกรุงไทย แต่ยังมีองค์กรอีกมากมายที่เข้าร่วมโครงการนี้ และบริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นหนึ่งในนั้น บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในเชิงโรงงานและอุตสาหกรรมก็สามารถมีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาโลกได้เช่นกัน
“บริษัทเราทำชิ้นส่วนพลาสติกครบวงจร มีกระบวนการตั้งแต่ดีไซน์แม่พิมพ์ ฉีดขึ้นรูปพลาสติก ชุบพลาสติก และพ่นสี ตอนนี้ส่งออกไปประมาณ 140 ประเทศทั่วโลก เราเติบโตจาก SME เล็กๆ ยอดขายเมื่อ 30 ปีที่แล้วประมาณ 2 ล้านบาท ปัจจุบันนี้ 2,000 กว่าล้านบาท ถือว่าเราเติบโตยั่งยืนต่อเนื่องมาเรื่อยๆ” คุณพอล สมพล ธนาดำรงศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ เริ่มแนะนำบริษัทตัวเองให้พวกเราฟัง
คุณพอลเล่าต่อว่า เราเข้าร่วมกิจกรรมของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตลอด โดยเข้าร่วมโครงการ Care the Bear ตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจภาคธุรกิจมากขึ้นก็คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเพียงการดูแลรักษาโลก แต่เป็นเหมือนอีกหนึ่งแนวทางในการเติบโตของภาคธุรกิจด้วย
“เทรนด์ใหญ่ๆ ที่ผ่านมาในช่วง 5-10 ปีหลัง เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมมาแรงเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนตัวเองก็เป็นนายกสมาคมยานยนต์ด้วย สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหนึ่งที่พูดถึงกันเยอะมาก ตั้งแต่ PM 2.5 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากยานยนต์ต่างๆ การเปลี่ยนจากเทคโนโลยี ICV เป็น EV คนก็เลยให้ความสำคัญเยอะ ทางบริษัทเริ่มเห็นกระบวนการต่างๆ จากที่ไปเยอรมนีมา ช่วงนั้นยุโรปแบนสารชุบพลาสติก ทำจาก Hexavalent Chromium ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราเองก็เป็นบริษัทแรกๆ ที่เปลี่ยนไปใช้ Trivalent Chromium ทำให้เราได้ออเดอร์จากยุโรปเพิ่ม
เราให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก เพราะเป็นสิ่งใหม่ เป็น Mega Trend ของเรา ผมมองว่าอะไรที่ลดต้นทุนและเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ คือหัวใจของเรา”
ไม่ใช่แค่ในเชิงการผลิต แต่ภายในองค์กรเอง ก็มีการทำ ‘กรีนออฟฟิศ’ ลดการใช้กระดาษ ทำงานผ่านออนไลน์ มีการเปลี่ยนหลอดไฟทั้งโรงงานเป็นหลอดประหยัดพลังงาน เปิดเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศาเซลเซียส กระดาษเหลือใช้ก็นำไปสร้างเป็นกระถางต้นไม้ วัสดุเหลือใช้ก็ไปพัฒนาต่อเป็นอิฐบล็อกปูทางเดิน ริเริ่มนโยบายให้พนักงานแต่ละคนเอาขวดน้ำส่วนตัวมา มีการเขียนชื่อระบุชัดเจน โรงอาหารก็จะลดค่าอาหารให้อีก 2 บาท ส่วนขยะพลาสติกก็มีการลดการใช้งาน หรือโฟมเอง ถ้าไม่นับในเชิงการผลิต คุณพอลก็บอกว่าไม่ได้ใช้มานานแล้ว
รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างจริงจัง มีการปรับ KPI ของพนักงาน และที่สำคัญเน้นย้ำการสร้างวัฒนธรรม ในองค์กรและปลูกฝังผ่านไปยังครอบครัวของพนักงานอีกด้วย
“ถ้าพนักงานประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่บ้านได้ 10% จะได้คะแนน KPI เต็ม 5 ฝ่าย HR ตั้งกฎเลยว่าให้เอาค่าไฟมาแสดงประโยชน์ที่ได้ประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นการสร้างจิตสำนึกด้วย”
ในส่วนของการผลิต การผลิตฉีดพลาสติกก็เปลี่ยนเป็น Servo Motor ประหยัดพลังงานกว่า 30% ฮีตเตอร์ที่กินไฟเยอะในอดีตก็เปลี่ยน ปัจจุบัน ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ ใช้มาตรฐาน ISO 50001 จากการลงทุนไป 5 ปี มูลค่ากว่า 50-60 ล้านบาท แต่ผลตอบรับกลับยิ่งใหญ่กว่านั้น คุณพอลระบุเองเลยว่า ทุกอย่างดีขึ้นและลดการใช้พลังงานได้จริง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคืนทุนใน 3 ปีที่ลงทุนไป และล่าสุดทางองค์กรมีการใช้ โซล่าเซลล์ 2 MW ทำให้ลดค่าไฟไปได้ค่อนข้างเยอะ
“บริษัทต่างๆ ก็เข้าร่วมได้หมด มาสร้างวัฒนธรรมเล็กๆ ในองค์กรไปด้วยกัน ลดการใช้โฟม ลดใช้กระดาษ ทำ Carpool อีกเรื่องหนึ่งคือ Food Waste แรกๆ อาจจะตลกนิดหนึ่งแต่ก็เป็นจุดที่สร้างจิตสำนึกในองค์กร ถึงจะเป็นแค่จุดเล็กๆ แต่การที่ทำ Carpool มันลดคาร์บอนได้เทียบเท่าปลูกป่าเป็นล้านต้นเลย โครงการ Care the Bear ทำให้เกิดความร่วมมือทั้งหมด เกิดพลังที่ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ผลที่ได้จากการดำเนินโครงการยังสามารถนำไปเขียนรายงานต่างๆ อาทิ รายงานประจำปี รายงานความยั่งยืน ได้อีกด้วย ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำโครงการต่างๆ มาผลักดันพวกเราเป็นสิ่งที่ดีมากๆ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็ทำให้โลกของเราร้อนน้อยลง”
และท่านสุดท้ายที่เรามีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยก็คือ ดร. สิริพัชร์ ไผ่สุวัฒน์ Innovation Specialist บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือที่เรารู้จักกันในนาม BDMS เพราะการดูแลสภาพแวดล้อม ก็เหมือนการดูแลผู้คนเฉกเช่นเดียว แล้วทำไม BDMS จึงเข้าร่วมโครงการนี้ และมีผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
ทาง ดร. สิริพัชร์ เริ่มเล่าให้เราฟังว่า เครือ BDMS เป็นกลุ่มธุรกิจการบริการด้านสุขภาพ ด้านการแพทย์ มีกลุ่มโรงพยาบาล อยู่ 3 กลุ่มใหญ่ และมี 48 โรงพยาบาลในเครือ และตอนนี้ก็มีธุรกิจอื่นๆ ทั้งการปฏิบัติการแลปและจำหน่ายยา ทำให้ BDMS นับว่าเป็นองค์กรที่ครอบคลุมด้านสุขภาพและการแพทย์ทั้งหมดก็ว่าได้
เหตุผลที่เข้ามาร่วมโครงการก็คือ เครือ BDMS เองก็ได้มีการทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อนอยู่แล้ว มีการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินโครงการต่างๆ โดย BDMS ได้เข้าร่วมโครงการ Care the Bear กับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2020 แล้วก็เริ่มต่อยอดสู่บริษัทอื่นๆ ในเครือไปเรื่อยๆ
“เรามองว่า Care the Bear เป็นเครื่องมือสื่อสารกับคนในองค์กรที่ดีมาก เราก็เริ่มหลักๆ กับการจัดอบรม ประชุม สัมมนาต่างๆ ที่เราทำประจำ ก็เปลี่ยนเป็นการจัดทางออนไลน์ ที่ผ่านมามีการรณรงค์เรื่องการใช้พลาสติก เริ่มจากโรงพยาบาลกรุงเทพ สาขาสำนักงานใหญ่ แล้วค่อยๆ ขยายไปโรงพยาบาลในเครืออื่นๆ พอเรานำเครื่องมือของโครงการมาใช้ก็เห็นภาพมากขึ้น ว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้เท่าไหร่ เทียบเท่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้กี่ต้น ทำให้ทุกคนเห็นภาพและสื่อสารได้ง่าย ปัจจุบันทำให้หลายโรงพยาบาลเครือเราทำตาม ผลตอบรับที่ได้ดีมาก เราสามารถลดการใช้พลาสติก ใช้ทรัพยากรให้มีคุณค่า เทียบกับการปลูกต้นไม้ได้หลายหมื่นต้น”
ในส่วนของ Feedback ก็นับว่าเป็นไปด้วยดี มีการให้ความร่วมมือ เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าช่วยโลกได้อย่างไรบ้าง และสอดคล้องกับนโยบายของ BDMS ตรงไหน
“มันเหมือนเป็นความภูมิใจของเรา เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เขามีส่วนร่วมได้มากขึ้น ถ้าเราพูดให้เขาฟังเฉยๆ เขาก็จะรู้แค่มันมีอะไรบ้าง แต่ไม่รู้ว่าทำยังไง พอเขาเห็นภาพ เขาก็จะฉุกคิดว่าเขาเลือกอีกทางที่ประหยัดได้ดีกว่า ซึ่งสมมติเปลี่ยนมาใช้ออนไลน์มันก็จะ User-friendly ขึ้นด้วย”
ดร. สิริพัชร์ ยังเน้นย้ำอีกด้วยว่า โลกออนไลน์จะมีส่วนสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะการประชุมออนไลน์เองก็สามารถลดการใช้รถยนต์หรือกระดาษไปได้มาก อาจจะมีเรื่องค่าไฟฟ้าเข้ามาบ้าง แต่ก็ช่วยลดขยะได้อย่างแน่นอน
“การประกาศรางวัลต่างๆ เวลามารับรางวัลปกติเขาก็ต้องมาที่สำนักงานใหญ่ แต่พอดีโควิด ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ สิ่งที่ประหยัดไปคือ 48 โรงพยาบาลทั้งหมดไม่ต้องนั่งรถมาที่นี่ พลังงานก็ลดไปเยอะ ประสิทธิภาพการทำงานก็ยังดีอยู่ อย่าง BDMS Award ปีนี้เป็นปีที่ 5 จะให้โควิดมาทำให้ทุกอย่างชะงักก็ไม่ควร เราต้องเปลี่ยนมุมมอง”
“เรื่องสิ่งแวดล้อมคนอาจจะคิดว่าต้องทำ แต่อยากให้มองว่าเราทำเพื่อลูกหลานของเรามากกว่า ไม่ใช่เฉพาะตัวเราเอง ทุกวันนี้ทุกคนก็กระทบกันทั้งหมดทั้งเรื่องก๊าซเรือนกระจก มลพิษ โรคระบาด ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ลองคิดดูว่าลูกหลานของเราต้องเจอแบบนี้อีก 10-20 เท่า ทุกคนมีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อลูกหลานของเราจะได้มีความยั่งยืนสงบสุข” นี่คือมุมมองสำคัญจาก ดร. สิริพัชร์ ไผ่สุวัฒน์
สุดท้ายนี้ ทางพี่เต๋า และทีม ได้ทิ้งท้ายถึงอุปสรรคที่เคยเจอในช่วงเวลาพัฒนาโครงการเอาไว้ว่า
“สิ่งหนึ่งที่เป็นแนวต้านสำคัญก็คือ ‘ความเคยชินเก่า’ โดยวิกฤตที่เข้ามา มันทำให้คนไม่กล้าที่จะเคลื่อนจากความเคยชินเก่า คนจะทำสิ่งเดิมๆ เพราะมันสะดวกกว่า ความเคยชินเก่ามันง่ายกว่า บางครั้งเราก็เลยไม่อยากปรับตัว
เราต้องปรับเพื่อแก้ปัญหาของโลก เราต้องการพลังของธรรมชาติ แต่เรากลับเอาเปรียบมัน บางคนอาจรู้สึกว่าปัญหาพวกนี้มันไกลตัว เพราะความทุกข์มันยังไม่มาถึงตัวเรา แต่ธรรมชาติแย่ลงจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่พยายามอยู่รอดมาโดยตลอด
เมื่อไหร่ก็ตามที่มนุษย์หยุดกิจกรรมทำลายล้าง ธรรมชาติพร้อมที่จะกลับคืนมาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหลักการก็คือ ถ้าเราอยากอยู่ อยากสร้างอะไรใหม่ๆ ก็ต้องละทิ้งความเคยชินเก่า เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ มิฉะนั้นมันไม่มีทางเปลี่ยนแปลงบนความเคยชินเก่าได้เลย”
ในส่วนของปี 2022 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะชวนทุกคนมาปรับตัวไปด้วยกัน เพราะการปรับตัวคือปัจจัยสำคัญสู่ความยั่งยืน และแพลตฟอร์มของทางองค์กรจะครอบคลุมเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ ทั้งโครงการที่เราได้ร่วมพูดคุยกับพี่เต๋าในวันนี้ Care the Bear นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการ Care the Whale ที่ทำเรื่องของการบริหารจัดการขยะ และโครงการ Care the Wild ที่โฟกัสไปในเรื่องการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ปัจจุบันโครงการ Care the Bear มีพันธมิตรกว่า 200 องค์กร ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และธุรกิจเพื่อสังคม สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 12,383 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า การดูดซับ CO2/ปี ของต้นไม้จำนวน 1,375,939 ต้น หรือเทียบเท่ากับการดูดซับ CO2/ปี ของป่าสมบูรณ์จำนวน 12,383 ไร่
สุดท้ายนี้ อย่าลืมว่า ภาวะโลกร้อน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน ทุกหน่วยงาน และทุกประเทศบนโลกใบนี้
มาร่วมมือกันรักษาสภาพแวดล้อม ก่อนอะไรๆ จะสายเกินไป ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต
หากองค์กรไหน หรือใครสนใจ สามารถติดตามข้อมูลและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญได้ที่: climatecare.setsocialimpact.com/carethebear
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม: ฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โทร. 02-009-9480