Care the Bear Act NOW!! คิดจะพัก คิดถึงธรรมชาติ! เที่ยวแบบใหม่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
หยุดยาวเดือนนี้ ใครยังไม่มีแผนเที่ยวยกมือขึ้น! ไม่ว่าจะวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาวก็ตามแต่ พี่หมีขอชวนทุกคนมาวางแผนการเที่ยวแบบใหม่ใส่ใจธรรมชาติมากขึ้นกว่าเดิมกันเถอะ เพราะรู้หรือไม่ว่า ทั่วโลกมีการประมาณการค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคท่องเที่ยวว่าอยู่ที่ราว ๆ 4.5 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในแต่ละปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 8 จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกทั้งหมด
โดยสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นก็มีตั้งแต่จุดเริ่มต้นอย่างการเดินทาง ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าและทรัพยากรน้ำในที่พัก รวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและทางน้ำโดยที่เราไม่รู้ตัว จนมีส่วนทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ได้
ว่าแล้วก็มาล้อมวงดูกันดีกว่าว่าเราจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวของเราให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้วก็เตรียมแพ็คกระเป๋า แล้วไปดูกันเลย! เพราะอย่าลืมว่าหากเราจะสนุกหรือใช้เวลาพักผ่อนก็ไม่ควรที่จะรบกวนธรรมชาติหรือสิ่งมีชีวิตแวดล้อมอื่น ๆ
ทริปเดียวกันไปด้วยกัน
#การขนส่ง จากสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมดนั้น กว่า 49% มาจากการขนส่ง โดยพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ เครื่องบิน รถยนต์ จักรยานยนต์ รถบัสขนส่งสาธารณะ รถไฟ และเรือตามลำดับ แน่นอนว่าแต่ละช่องทางย่อมมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย ความสะดวกสบาย รวมถึงความรวดเร็ว แต่! จะดีกว่าไหมถ้าเราวางแผนการเดินทางของเราให้ดี เพื่อให้ทริปของเรานั้นช่วยประหยัดพลังงานได้มากที่สุด
#ทริปเดียวกันไปด้วยกัน สำหรับการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ไม่ไกลมากนัก หลายคนเลือกที่จะออกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเพื่อความสะดวกสบาย ซึ่งถ้าหากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวแล้ว พี่หมีก็ขอแนะนำว่าทริปเดียวกันก็เดินทางไปด้วยกันจะดีกว่า ทั้งช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และยังได้ใช้เวลาระวังทางร่วมกันอีกด้วยนะ
#ขนส่งสาธารณะ แน่นอนว่าการใช้บริการขนส่งสาธารณะนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะ 1 คันนั้นสามารถบรรจุผู้โดยสารได้จำนวนมากเลยทีเดียว รวมถึงเส้นทางเดินรถในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายเส้นทางมากขึ้นและบางส่วนก็ได้ปรับมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาดแล้ว
ทั้งเดินทั้งปั่นระยะทางใกล้ สำหรับการเดินทางในพื้นที่ที่เราไปเยือนนั้น หากไม่ใช่ระยะทางไกลมากมาย พี่หมีก็ขอชวนทุกคนมาเดินและปั่นจักรยานแทนการใช้รถกันเถอะนะ! เพราะถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เราได้ออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย อย่างน้อย ๆ ลองสอบถามที่พักของเพื่อน ๆ เอง เผื่อว่าเขาจะมีจักรยานให้เช่ายืมได้ฟรี เพียงแค่นี้ก็ได้เดินทางสำรวจย่านท่องเที่ยวนั้น ๆ แบบไม่ต้องกลัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วล่ะ
พักพลังงาน พักใจ ไม่เปิดทิ้งสิ้นเปลือง
#หยุดใช้เมื่อไม่อยู่ห้อง อีกหนึ่งแนวคิดคือการประหยัดพลังงานให้เหมือนอยู่บ้านตัวเองนั่นเอง ในหลาย ๆ ครั้งที่เราออกไปทำกิจกรรม รับประทานอาหารนอกห้องพักก็อย่าลืมดึงคีย์การ์ดกันไปด้วยนะเพื่อน ๆ บางคนอาจจะเผลอเสียบไว้เพื่อให้เครื่องปรับอากาศทำงานตลอดเวลา กลับเข้ามาจะได้เย็นชุ่มฉ่ำ แต่หยุดก่อนเถอะ! ความเย็นที่มาจากการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานทิ้งไว้นั้นอาจไม่คุ้มค่ากับพลังงานที่เสียไป หรือใครที่มองว่าอยากจะเที่ยวแบบคุ้ม ๆ เพราะฉันจ่ายเงินแล้วก็ต้องใช้ให้คุ้มสิ แบบนั้นก็ขอบอกเลยว่า คิดผิด! คำว่าคุ้มในที่นี้ พี่หมีมองว่าเป็นการบริโภคและใช้บริการเท่าที่เป็นประโยชน์และสร้างความสุขใจให้กับเราแต่พอดีก็พอ เพราะถ้าหากเราใช้พลังงานเหลือทิ้งเช่นนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อโลกแล้ว ในแง่ของผู้ประกอบการ ก็อาจทำให้เขาต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ เกินความจำเป็นด้วยเช่นกัน
#ลดเปลี่ยนผ้าลดการใช้น้ำ ในปัจจุบัน ปริมาณน้ำจืดนั้นขาดแคลนขึ้นเรื่อย ๆ และยังไม่มีอีกหลายภูมิภาคบนโลกที่ผู้คนขาดแคลนน้ำสะอาดใช้อีกด้วย ทรัพยากรน้ำส่วนมากถูกใช้ไปกับกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการซักล้างเองก็เช่นกัน ในทุก ๆ การซักล้าง 10 กิโลกรัม จะต้องใช้น้ำอย่างน้อย 50 ลิตรเลยทีเดียว
ดังนั้นแล้ว ในทุกการไปท่องเที่ยว เราอาจช่วยประหยัดพลังงานได้โดยการใช้ผ้าเช็ดตัวซ้ำและละเว้นการเปลี่ยนผ้าปูที่นอนทุกวัน (หากไม่ได้เลอะสิ่งสกปรกอะไรเป็นพิเศษ) เพราะอยากให้ลองคิดในมุมชีวิตประจำวันของพวกเรา ไม่ว่าจะผ้าปูที่นอนหรือผ้าเช็ดตัว พี่หมีก็ใช้งานมากกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไปก่อนจะเปลี่ยนผืนใหม่นะเพื่อน ๆ
ซึ่งที่พักหลายแห่งในปัจจุบันนั้นมีระบบการสื่อสารที่สะดวกต่อการแจ้งไม่รับผ้าเช็ดตัวหรือผ้าปูที่นอนใหม่ของผู้พักด้วย เช่น หากต้องการเปลี่ยนผืนให้กองไว้ที่ผืน หากต้องการทำความสะอาดสามารถแขวนป้ายแจ้งได้ที่ประตู เพื่อให้สื่อสารได้เข้าใจตรงกันและสะดวกต่อผู้เข้าพักอย่างเรา ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาไปเที่ยว คิดจะพักก็อย่าลืมคิดถึงโลกกันด้วยนะ!
ตักอาหารแต่พอดี ทานให้หมด อย่าให้เหลือ เพื่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อพูดถึงการไปพักผ่อนวันหยุดตามที่พักต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่เราพลาดไม่ได้ก็คือมื้ออาหารแสนอร่อยนี่แหละ ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายโรงแรมที่จัดมื้ออาหารบุฟเฟ่ต์เพื่อให้ผู้เข้าพักได้มีตัวเลือกมื้ออาหารที่หลากหลายยิ่งขึ้นตามคอนเซปต์ ‘All You Can Eat’
แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือปัญหา Food Waste หรือขยะอาหารที่เหลือทิ้งอันมาพร้อมกับมื้ออาหารต่าง ๆ โดยส่วนหนึ่งนั้นมาจากการจัดเตรียมวัตถุดิบปรุงอาหารเพื่อเตรียมรองรับความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากร้านค้าจะต้องปรุงอาหารหรือเตรียมวัตถุดิบให้มากเกินกว่าความต้องการของลูกค้าเอาไว้ เพื่อป้องกันปัญหาอาหารไม่พอต่อความต้องการ ดังนั้นแล้ว หากตักเยอะ ร้านค้าก็จะคาดการปริมาณอาหารในวันต่อ ๆ ไปเยอะตามไปด้วย สุดท้ายแล้วอาจทำให้อาหารสำเร็จรูปหรือวัตถุดิบต้องเหลือทิ้งจำนวนมาก
เพราะฉะนั้น ในฐานะผู้บริโภคเอง พี่หมีก็แนะนำว่าพวกเราจะต้องคิดดี ๆ ก่อนตักอาหาร! หลายคนมักจะเจอปัญหาปริมาณอาหารเยอะไปไม่พอดีเลยเกิดการทานเหลือ ซึ่งเมื่อจุดเด่นของมื้ออาหารแบบบุฟเฟ่ต์คือการเลือกตักเองได้ตามใจต้องการ เราก็ควรตักอย่างพอดี มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะถ้าเรายึดหลักเห็นแก่คุ้ม สุดท้ายก็อิ่มก่อนและไม่ได้กินอยู่ดีนะ! หรือหากเป็นการเสิร์ฟแบบปรุงทีละจาน (Cook to order) เราก็อาจจะแจ้งกับเหล่าพ่อครัวแม่ครัวได้ว่าขอในปริมาณที่มาก/น้อยกว่าปกติตามที่เราบริโภคไหว หรืออาจขอละเว้นบางสิ่งที่เราไม่รับประทาน เผื่อไม่ให้เป็นการสูญเสียวัตถุดิบไปโดยใช่เหตุ
ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้เคยประมาณการณ์ไว้ว่าทั่วโลกมีขยะอาหารมากกว่าประมาณ 1.6 พันล้านตันต่อปี หรือลสำหรับประเทศเองพบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยประเภทขยะอินทรีย์หรือเศษอาหารนี้ ในปี พ.ศ.2560 มีมากถึง 17.56 ล้านตัน และคิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดเลยทีเดียว ที่สำคัญ ปลายทางของขยะเหล่านี้มีเพียงบางส่วนที่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี อาทิ เผาในเตาเผาหรือผลิตเป็นปุ๋ย ดังนั้นแล้ว จึงมีขยะอินทรีย์อีกส่วนหนึ่งเหลืออยู่มาเลยทีเดียวที่ถูกฝังกลางแจ้งและก่อปัญหามลพิษอื่น ๆ ขึ้นแทน เช่น ส่งกลิ่นเหม็น กระจายเชื้อโรคสู่แหล่งน้ำต่าง ๆ เพราะฉะนั้น การทำให้เกิดอาหารเหลือทิ้งในปริมาณมากนั้นมีส่วนในการสร้างผลกระทบทั้งต่อเราทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ไม่ควรมองข้ามเลยสักนิดเดียว
โกกรีนกับชุมชน
การท่องเที่ยวอีกแนวหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน คือ การเที่ยวแบบยั่งยืน (Ecotourism) อันหมายถึงการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น นอกจากการท่องเที่ยวตามสถานที่แหล่งธรรมชาติต่าง ๆ แล้ว การท่องเที่ยวในชุมชนท้องถิ่นก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในทุกที่อีกด้วย
เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ากลุ่มคนที่เข้าใจธรรมชาติได้ดีที่สุดนั้นก็คือผู้คนในพื้นที่ที่เป็นทั้งเจ้าของและผู้ดูแลทรัพยากรในเวลาเดียวกัน การท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนนี้ นอกจากจะได้เห็นความเป็นอยู่ของพวกเขาแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของผู้คนในชุมชนอีกด้วย ซึ่งการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนนั้นก็จะต้องอาศัยความเข้าใจต่อบริบทพื้นที่และผู้คนด้วยเช่นกัน
การท่องเที่ยวในชุมชนนั้นมีส่วนสำคัญที่ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนพืชผลจากสวนโดยตรง ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่อาศัยวัสดุธรรมชาติและปลอดสารเคมี เวิร์คชอปเรียนรู้วัฒนธรรมในพื้นที่ให้กับผู้ที่สนใจได้เข้าร่วม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากทุกที่แน่นอน อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ของชุมชนให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นอีกด้วย
รวมถึงพฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบไม่สร้างขยะก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบันนั้นมีหลายชุมชนที่เป็นชุมชน Net Zero หรือเป็นพื้นที่ชุมชนที่หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีการหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเพื่อให้เอื้อต่การสลายง่าย เช่น ใบมะพร้าว ใบตอง หรือหลอดไผ่ดูดน้ำ ซึ่งเราเองก็สามารับผิดชอบตัวเองได้ด้วยการพกภาชนะของตัวเองไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นกล่องข้าวส่วนตัว แก้วน้ำหรือกระติกน้ำส่วนตัว เพื่อเป็นการช่วยลดบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งที่ยากต่อการย่อสลายด้วย
เป็นยังไงกันบ้างเพื่อน ๆ? สิ่งหนึ่งที่พี่หมีอยากจะฝากให้ทุกคนคำนึงถึงทุกครั้งที่ไปท่องเที่ยวคือ ‘การเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ’ อันหมายถึงการใช้ทรัพยากรอย่างพอเหมาะ ไม่ปล่อยทรัพยากรทิ้งขว้างโดยใช่เหตุ ทั้งพลังงานไฟฟ้าที่เราอาจละเลยไป ทรัพยากรอาหาร หรือทรัพยากรธรรมชาติจากการท่องเที่ยวก็ตามแต่ เพราะนอกจากทรัพยากรจะถูกทำให้หมดไปโดยไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นปัจจัยเร่งเร้าให้ปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย
ดังนั้นแล้ว นี่จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราสามารถเริ่มได้ที่ตัวเองและคนรอบข้าง ร่วมมือจนกลายเป็นสิบคน ร้อยคน พันคน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด มาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่กับ Care The Bear Change The Climate Change ด้วยกัน เพื่อโลกนี้ที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนได้ต่อไป
หากองค์กรไหน หรือใครสนใจ สามารถติดตามข้อมูลและร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการ Care the Bear ได้ที่ : climatecare.setsocialimpact.com/carethebear
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม: ฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ติดต่อ ได้ที่ : SocialDevelopmentDepartment@set.or.th
อ้างอิง
https://www.newscientist.com/article/2168174-tourism-is-four-times-worse-for-the-climate-than-we-thought/
https://sustainabletravel.org/issues/carbon-footprint-tourism/
https://hospitalityinsights.ehl.edu/sustainable-hotel-management
https://partner.booking.com/th/ความช่วยเหลือ/คู่มือ/ลดการใช้น้ำ
https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2019/09/final_food_waste_management.pdf
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/126472
https://makrohorecaacademy.com/th/articles/food-waste-with-buffet-restaurants-03
https://ecofriend.com/latest-eco-friendly-trends-in-the-hospitality-segment.html