Care the Bear Act NOW!! ชวนชาวออฟฟิศโกกรีนในยุค NEW NORMAL

newnormal-04

Care the Bear Act NOW!! ชวนชาวออฟฟิศโกกรีนในยุค NEW NORMAL

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงคุ้นชินกับคำว่า 'New Normal' หรือแนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงยุคโรคระบาด COVID-19 เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ในขณะที่โรคระบาดนี้ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน สุขภาพ การทำงาน การเดินทาง ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

แต่ในขณะเดียวกัน วิถีชีวิตแบบใหม่นี้ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยที่เราไม่ทันได้รู้ตัว เคยสังเกตกันหรือไม่ว่าการสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลีเวอรี่แต่ละครั้งนั้นสร้างขยะเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ชิ้นเลยทีเดียว! ได้แก่ กล่องอาหาร ถุงน้ำจิ้ม ช้อน ส้อม ถุงใส่ช้อนส้อมพลาสติก ถุงน้ำซุป และถุงหูหิ้ว ซึ่งหากยังไม่มีการจัดการขยะเหล่านี้ด้วยวิธีที่ถูกต้องก็จะนำมาซึ่งปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นมหาศาลได้เช่นกัน 

วันนี้พี่หมีเลยอยากชวนทุกคนมาส่องกันว่าเหล่าบรรดาชาวออฟฟิศอย่างเรา ๆ ที่ต้องออกไปทำงานในยุค New Normal นั้นจะหันมาโกกรีนกันได้อย่างไรบ้างนะ ทั้งการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การลด-ละ-เลิกใช้พลังงานและทรัพยากรในออฟฟิศอย่างสิ้นเปลือง รวมถึงการแยกขยะให้ถูกประเภทเพื่อให้ขยะถูกส่งต่อไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกวิธีอีกด้วย 

ว่าแล้วก็อย่ารีรอ มาลงมือทำแล้วชวนเพื่อนโต๊ะข้าง ๆ มาร่วมเปลี่ยนเพื่อโลกกันดีกว่า เพื่อให้การปรับตัวในยุคใหม่ New Normal กลายเป็นสิ่งที่ดีต่อโลกไปพร้อม ๆ กันด้วยเถอะ

newnormal-02

ปรับเปลี่ยนวิถีบริโภค

สถิติขยะมูลฝอยในประเทศไทยนั้นมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 27.8 ล้านตัน/ปี เฉลี่ยแล้วพบว่าพวกเราทุกคนสร้างขยะกันถึงวันละ 1.13 กิโลกรัม! โดยสัดส่วนขยะทั้งหมดนั้น เป็นขยะพลาสติกไปแล้วกว่า 12 - 13% และมีขยะบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) เป็นจำนวนมากที่สุด แม้จะสะดวกต่อการใช้งาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกครั้งที่เราใช้งานเจ้าพลาสติกเหล่านี้เหมือนเป็นการสร้างขยะใบใหม่ให้โลกเพราะบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนี้ยากต่อการรีไซเคิลและต้องอาศัยเวลาในการย่อยสลายที่แสนนาน

ในเมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ลดแทนแล้วกัน! อะ อะ! อย่าพึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ลำบากนะ เพราะความจริงแล้วยังมีอีกหลายพฤติกรรมเลยล่ะที่เราสามารถเลิกได้โดยที่ไม่ได้กระทบต่อความอร่อยในมื้ออาหารเราเลย เรื่องของอาหารและเครื่องดื่มนั้นเป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ในแต่ละวัน เช่น การแวะซื้ออาหารเช้า กาแฟหรือเครื่องดื่มก่อนจะถึงออฟฟิศ ซึ่งถ้าหากเราไม่ได้เตรียมตัวมาก็จะได้รับถุงพลาสติกเต็มไม้เต็มมือมาด้วยแน่นอน

#เตรียมรับมือให้พร้อม การวางแผนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ช่วยลดการสร้างขยะไปได้ ถ้าเพื่อน ๆ มั่นใจอยู่แล้วว่าในแต่ละวันจะมีการแวะซื้ออาหารและเครื่องดื่มแน่นอนก็อย่าลืมพกแก้วน้ำส่วนตัวและกล่องใส่อาหารไปด้วย เพราะหลายครั้งที่เราซื้ออาหารแบบสั่งกลับบ้านเพื่อมาทานช่วงเช้าหรือพักกลางวันที่ออฟฟิศก็จะต้องมาพร้อมกับการสร้างขยะบรรจุภัณฑ์อีกหลายชิ้น เช่น ถุงแกง กล่องพลาสติก กล่องกระดาษ ดังนั้น ถ้าหากเราสามารถเตรียมตัวให้พี่ ๆ ร้านกับข้าวตักใส่กล่องส่วนตัวของเราได้ก็จะช่วยลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวันไปได้มาก แต่ที่สำคัญก็อย่าลืมคำนึงถึงเรื่องความสะอาดด้วยล่ะ! ทำความสะอาดให้ดีทุกครั้งก่อนนำมาใช้ใหม่เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อโรค

นอกจากนี้ อีกหนึ่งการเตรียมตัวก็คือ ‘ยึดออกพกถุง’ นี่แหละ การพกถุงในชีวิตประจำวันอาจเตรียมไว้มากกว่า 1 ใบ เพื่อแยกใส่ของคาวและของหวานก็ได้ โดยถุงนั้นอาจจะเป็นถุงผ้าสวยงามที่เรามีอยู่แล้วหรือถุงพลาสติกใบเก่า ๆ ที่เราเคยได้รับจากลุง ๆ ป้า ๆ พ่อค้าแม่ขายก็สามารถวนใช้ซ้ำได้ เพราะหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการไม่สร้างขยะใหม่ ก็คือการที่เราใช้สิ่งของที่มีในมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือใช้มากกว่า 1 ครั้งนั่นเอง  

#ฟู้ดเดลิเวอรี่ แน่นอนว่าเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ใช้บริการ Food Delivery เพราะตอบโจทย์ทั้งเรื่องความสะดวกสบายและความรวดเร็วให้กับผู้บริโภค แต่ก็ต้องแลกมากับขยะปริมาณมหาศาลเช่นกัน ดังนั้น หากลดการสั่งไม่ได้ก็มาเลี่ยงอะไรที่ไม่จำเป็นกันเถอะ! การสั่งอาหารย่อมมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกอัตโนมัติอย่างเครื่องปรุงและอุปกรณ์การรับประทานอาหารอย่างช้อนส้อมพลาสติก ซึ่งในปัจจุบัน หลายคนอาจไม่ทันสังเกต แต่เขามีปุ่มให้กด ‘ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก’ ด้วยนะ รวมถึงเครื่องปรุงก็สามารถพิมพ์โน๊ตย้ำกับร้านค้าไปได้เลยว่าพี่จ๋า ขอไม่รับเครื่องปรุงแล้วก็ช้อนส้อมนะ!

แล้วถ้าไม่รับ จะใช้อุปกรณ์ที่ไหนล่ะ? แน่นอนว่าเราสามารถพกพาช้อนส้อมส่วนตัวของเราและเก็บไว้ที่โต๊ะทำงานของเราได้ แบบไม่สร้างขยะแน่นอน เพราะเป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้และทนทานกว่าด้วย

newnormal-01

ลด-ละ-เลิกยุคเปลืองพลังงาน

เมื่อพูดถึงสำนักงานออฟฟิศก็ย่อมมาพร้อมกับการใช้พลังงานในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า ประปา และทรัพยากรต่าง ๆ ที่เพื่อน ๆ อาจเผลอใช้สิ้นเปลืองไปแบบไม่รู้ตัว เราเลยอยากชวนทุกคนมาสำรวจแล้วลด-ละ-เลิกยุคสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุกัน 

#ลด ลดการเบิกจ่ายซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะเรื่องของ ‘กระดาษ’ ที่ย่อมมาคู่กับทุกสำนักงาน และที่สำคัญกระดาษนั้นเป็นทรัพยากรที่ผลิตมาจากต้นไม้ ยิ่งถ้าใช้เยอะเท่าไหร่ แปลว่าต้นไม้ก็จะยิ่งถูกตัดทำลายมาสนองความต้องการใช้ของมนุษย์มากเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่พวกเราชาวออฟฟิศสามารถมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงได้ในยุค New Normal เช่นนี้ก็คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บข้อมูลและประสานงานให้เป็นระบบดิจิตัลมากขึ้น เพื่อลดปริมาณเอกสารน้อยลง (paperless) นอกจากจะเป็นการลดการใช้ทรัพยากรแล้วก็ยังช่วยเพื่มความสะดวก รวดเร็วในการทำงาน ไม่ต้องพกพาเอกสารไปในทุกที่อีกด้วย หรือหากเปลี่ยนไม่ได้จริง ๆ ก็อย่าลืมหันมาใช้ซ้ำ (reuse) กระดาษกันให้มากขึ้น เอกสารไหนที่ไม่ใช่เอกสารการเงินหรือเอกสารสำคัญของบริษัทก็อย่าลืมนำมาพลิกด้านใช้ซ้ำได้อีกรอบล่ะ รับรองว่าสามารถลดปริมาณการใช้และงบประมาณซื้อไปได้มากมายแน่นอน

#ละ ละพฤติกรรมเก่าแล้วหาทางเลือกใหม่! เคยสังเกตกันไหมว่าในชีวิตประจำวันของเรานั้น มีหลากหลายพฤติกรรมทางเลือกที่ช่วยให้เราประหยัดพลังงานลงไปได้ เช่น การเลือกใช้บันไดแทนลิฟต์หากขึ้นลงเพียง 1-2 ชั้น รวมถึงการรอเพื่อนร่วมทางให้ไปพร้อมกัน เพราะการบรรจุคนให้ได้เต็มกำลังบรรจุจะช่วยประหยัดพลังงานไปได้ โดยไม่ต้องให้ลิฟต์วิ่งขึ้นลงโดยไม่จำเป็น และที่สำคัญคือการใช้ลิฟต์ให้ถูกประเภทระหว่างลิฟต์ขนของและลิฟต์โดยสาร เพื่อไม่ให้ลิฟต์ทำงานหนักเกินไปจนทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ  

#เลิก เลิก! พฤติกรรมการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้อันทำให้เปลืองไฟ เปลืองค่าใช้จ่าย และเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้ารัดวงจร เช่น การเปิดไฟทิ้งไว้ตลอด 24 ชั่วโมงทั้งที่ไม่มีการใช้งาน ในความเป็นจริงแล้ว ทุกออฟฟิศควรกำหนดเวลาเปิด-ปิดไฟเป็นช่วงเวลา เพื่อให้ระบบไฟฟ้าได้พักบ้าง อาทิ ปิดไฟช่วงพักกลางวันที่ไม่มีคนอยู่ รวมถึงเปิดไฟเฉพาะโซนที่มีการใช้งานหรือห้องที่มีการประชุมกันเท่านั้น นอกจากนี้ ชาวออฟฟิศหลายคนมักมีพฤติกรรมชอบเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้ หรือเปิดคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้เวลาลุกไปทำธุระต่าง ๆ เพื่อความสะดวก แต่! หยุดก่อน นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่อาจทำให้พลังงานไฟฟ้ารั่วไหลได้ เพราะฉะนั้นแล้วก็อย่าลืมถอดปลั๊ก ปิดสวิตช์ และในช่วงเทศกาลหยุดยาวเองก็ควรจะสับเบรกเกอร์ลงเพื่อตัดวงจรไฟที่ยังวิ่งอยู่ด้วยล่ะ 


newnormal-03

ทิ้งให้ถูกที่ นำไปใช้ต่อได้ถูกทาง

อีกหนึ่งหนทางโกกรีนภายในออฟฟิศนั้นก็คือการกำจัดขยะให้ถูกวิธีเพื่อลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการหมักหมมของเศษอาหารและยังช่วยให้ขยะแต่ละประเภทถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างถูกทางด้วย

เริ่มต้นจากการทิ้งลงถังให้ถูกประเภท สำหรับออฟฟิศไหนที่กำลังจะเริ่มต้นแยกขยะกันแบบฉบับเบื้องต้น เราก็แนะนำให้ลองแยกเป็นถังขยะเปียก-ถังขยะทั่วไป-ถังขยะรีไซเคิล-ถังขยะอันตราย ดูก่อนก็ได้นะ! สำหรับถังขยะรีไซเคิลนั้นเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและแยกกันให้ถูกต้องมากขึ้น เพราะขยะรีไซเคิลส่วนมากนั้นสามารถนำไปขายต่อหรือบริจาคเพื่อนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ ปัญหาขยะรีไซเคิลที่ไม่ถูกรีไซเคิลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในประเทศไทย แต่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลกเองก็พบเจอ ข้อมูลสถิติของปัญหาขยะระดับโลกนั้นพบว่า 'ขยะมูลฝอยชุมชน' เกิดขึ้นทั่วโลกมากกว่า 2.1 พันล้านตัน/ปี ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 323 ล้านตัน หรือ 16% เท่านั้น ที่ถูกนำกลับมาเข้ากระบวนการรีไซเคิล ส่วนที่เหลือนั้นถูกปะปนไปกับเศษอาหารที่เหม็นบูดและขยะอันตรายที่มีส่วนประกอบของสารเคมีไปเกือบหมด ซึ่งเป็นผลประทบมาจากความละหลวมในการแยกขยะต้นทางนี่เอง

ขอให้เพื่อนจำไว้ให้ดีว่า ขยะรีไซเคิลนั้นจำแนกได้ไม่ยากและเป็นถังที่มีค่าที่สุด!  เพียงแค่สังเกตสัญลักษณ์ ‘รีไซเคิลได้’  ที่เป็นลูกศรวนกันเป็นรูปสามเหลี่ยมบนวัสดุนั้น ๆ หากมีการแยกกันอย่างเข้มแข็ง มองหาจุดส่งต่อที่รับขยะเหล่านี้ไปรีไซเคิลต่อได้ ก็จะเป็นการช่วยหาบ้านใหม่ให้กับน้องขยะเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน ที่สำคัญก็อย่าลืมทำความสะอาด ให้สะอาดก่อนทิ้งเพื่อให้สามารถนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายขึ้นกันด้วยนะ 

ต่อมาถังขยะทั่วไปนั้นหมายถึง ขยะที่มีการปนเปื้อน เช่น  พลาสติกห่อลูกอม โฟม ฟอล์ย ถุงพลาสติก ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บรรจุภัณฑ์เปื้อนอาหาร โดยส่วนมากนั้นจะเป็นขยะที่ยากต่อการรีไซเคิลหรือใช้ทรัพยากรและงบประมาณมากในการนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล ส่วนขยะอันตรายนั้นคือกลุ่มวัสดุอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  ที่มีองค์ประกอบปนเปื้อนวัตถุสารเคมีอันตราย หรือเป็นวัตถุไวไฟซึ่งอาจเกิดอันตรายแก่พวกเราและสิ่งแวดล้อมได้ เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี ถ่าน สีสเปรย์ บรรจุภัณฑ์เคมี ฯลฯ

ต่อมาการแยกเศษอาหารหรือ ‘ขยะอินทรีย์’ ออกมากำจัดให้ถูกวิธี ซึ่งขยะเศษอาหารเหล่านี้ก็จะไม่ถูกทิ้งสูญเปล่า สามารถนำไปทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารได้ หากภายในสำนักงานของเพื่อน ๆ ยังมีพื้นที่เหลือและอยากให้มีกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้คนในออฟฟิศก็สามารถสร้างแปลงผักเล็ก ๆ ของส่วนรวมขึ้นมาได้เพื่อให้ทุกคนช่วยกันดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิตส่วนนี้ได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในตึกของเราแล้วก็ยังเป็นการช่วยลดปัญหาค่าครองชีพของพนักงานในออฟฟิศไปได้อีกด้วย

#ถ้าไม่แยกล่ะ สิ่งหนึ่งที่พี่หมีอยากชวนทุกคนตระหนักคือชีวิตหลังถูกใช้งานของสิ่งของ วัสดุต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหากเราไม่จัดการให้ถูกทาง จากสถิติเบื้องต้นที่ประมาณการณ์ว่าคนไทยสร้างขยะเฉลี่ย 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน เท่ากับประเทศไทยมีขยะกว่า 27.8 ล้านตัน/ปี เทียบเท่ากับเครื่องบินแอร์บัส A380 จอดทิ้งไว้ถึงวันละ 270 ลํา ยิ่งไปกว่านั้นคือขยะมูลฝอยเหล่านี้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่เพียง 35% และกําจัดถูกวิธีเพียง 39% เท่านั้น ยังมีส่วนที่กําจัดผิดวิธีกว่า 26% ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อแหล่งน้ำ เกิดการก่อมลพิษในอากาศ และทำลายคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบข้างด้วย สิ่งหนึ่งที่พวกเราจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ก็คือการแยกขยะให้ถูกตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดการปนเปื้อนของขยะจนนำไปสู่จำนวนขยะฝังกลบที่ลดลงในอนาคตนั่นเอง

ชาวออฟฟิศทราบแบบนี้กันแล้วก็อย่าลืมมาเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยกันนะ! แม้ว่าบางเรื่องอาจจะต้องลบความเคยชินหรือลดความสะดวกสบายต่อพฤติกรรมเดิม ๆ ของเราไปบ้าง แต่หากมีเพื่อนรอบตัวมาช่วยกันลงมือทำก็จะสามารถกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal ที่ไม่ทำร้ายโลกแน่นอน มาร่วมกันเปลี่ยนพฤติกรรมไปกับ Care The Bear Change The Climate Change ด้วยกัน เพื่อให้โลกนี้กลายเป็นโลกที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นเถอะ

หากองค์กรไหน หรือใครสนใจ สามารถติดตามข้อมูลและร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการ Care the Bear ได้ที่ : climatecare.setsocialimpact.com/carethebear
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม: ฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ติดต่อ ได้ที่ : SocialDevelopmentDepartment@set.or.th

 

อ้างอิง
https://haribon.org.ph/how-to-become-an-environmental-hero-for-the-new-normal/
https://www.usatoday.com/story/money/2019/06/17/climate-change-30-ways-to-make-your-life-more-environmentally-friendly/39366589/
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/new-normal-สุขภาพ
https://tdri.or.th/2020/05/plastic-waste-from-food-delivery-services-in-covid-19-lockdown/
https://www.c2es.org/content/reducing-your-carbon-footprint-at-work/