สวัสดีครับ ทุกคน ผมหมีขาว หรือ Polar Bear ซึ่งถือว่าผมเนี่ยเป็นตัวชี้วัดในเรื่องของโลกร้อนเลย นร้า.. เพราะบ้านของผมอยู่ที่อาร์กติก หรือ ขั้วโลกเหนือนั่นเอง เมื่อโลกร้อนขึ้น บ้านและที่อยู่ของผมที่เป็นน้ำแข็งก็จะละลายหายไปเพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า หากโลกร้อนขึ้น พวกผมหมีขาว จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนพวกผมเข้าสู่ภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่ทุกคนรู้มั้ยครับ ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบกับผมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันยังส่งผลกระทบมากมายต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมไปถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตด้วย และทำให้เกิดภัยพิบัติสุดขีด (Extreme Disaster) เกิดขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้สรุปถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลกได้ดังนี้ ลองมาฟังกันดูนะครับ
1. อากาศสุดขั้ว เพราะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้สภาพอากาศโดยเฉลี่ยร้อนขึ้น ฤดูร้อนร้อนมากขึ้น ฤดูหนาวอุณหภูมิไม่ลดต่ำลงมากเหมือนในอดีต
2. คลื่นความร้อน (heat wave) จะมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นถึง 3 เท่า
3. ภัยแล้งซ้ำซาก เกิดภัยแล้งบ่อยครั้งขึ้น คาดว่าเอลนีโญสุดขีดจะเกิดขึ้นถี่ขึ้นถึง 2 เท่าในช่วง 100 ปีนี้
4. หิมะถล่มเมือง ทวีปอเมริกาเหนือและตอนเหนือของยุโรปอาจต้องเผชิญปรากฎการณ์หนาวสุดขั้ว อุณหภูมิติดลบหลายองศาต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง หิมะตกทับถมต่อเนื่องยาวนาน
5. พายุหมุนขนาดยักษ์ ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลในมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้น มีแนวโน้มทำให้พายุหมุนเขตร้อนเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นจากในอดีต กลายเป็น ซูเปอร์พายุหมุน (Superstorm) ทำให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ดินถล่ม ลมพายุรุนแรงทำลายสิ่งต่างๆ
6. น้ำท่วมโลก จากปริมาณน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ที่กำลังละลายลงสู่ทะเล และมหาสมุทรด้วยอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าจากในอดีต ทำให้ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นหลายเมตร และจะส่งผลให้เมืองที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลหลายแห่งต้องจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งกรุงเทพมหานครก็เป็น 1 ใน 6 เมืองของโลกที่อยู่ในภาวะเสี่ยงนั้นด้วย โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 พื้นที่ 40% ของเมืองกรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมเสียหาย ทั้งจากฝนที่ตกหนัก และน้ำหนักของตึกระฟ้าที่ยิ่งส่งผลให้เมืองกรุงเทพฯ ต้องจมลงในอัตรา 0.8 นิ้วต่อปีด้วย
7. กระแสน้ำมหาสมุทรแปรปรวน ในมหาสมุทรมีการไหลเวียนของกระแสน้ำเชื่อมโยงกันทั่วโลกเป็นวงจรใหญ่ที่เรียกว่า สายพานมหาสมุทรโลก (Great ocean conveyor belt) ภาวะโลกร้อนอาจส่งผลกระทบให้สายพานนี้เคลื่อนที่ช้าลงหรืออาจหยุดไป ซึ่งจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงมากทั้งต่อชีวิตบนบกและสัตว์ในทะเล
8. ทะเลเป็นกรด เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น มหาสมุทรจะละลายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น ทำให้น้ำทะเลมีสภาพความเป็นกรดสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ในระบบนิเวศของท้องทะเล
9. พืชและสัตว์สูญพันธุ์ ซึ่งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่อวัฏจักรและวงจรชีวิตของสัตว์และพืชต่างๆ ทั้งบนบกและในทะเล ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกเรานี้ลดลง
10. โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น ยุง แมลง ไวรัส และเชื้อโรคต่างๆ ทำให้วงจรชีวิตของมันสั้นลงแต่แพร่ขยายพันธุ์เร็วขึ้น และอาจปรับตัววิวัฒนาการได้เร็วขึ้นด้วย ซึ่งคาดว่าการระบาดของโรคร้ายจะแพร่กระจายสู่ภูมิภาคอื่นของโลกได้ง่ายขึ้น
และจากการจัดลำดับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Index Score) ของ Germanwatch ได้ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเปราะบาง และมีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ อยู่ในลำดับที่ 13 จากการเก็บข้อมูลใน 180 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงและเปราะบางในอันดับต้นๆ ของโลก และจากการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาได้สรุปว่าใน 20 ปีตั้งแต่ปี 2016 – 2035 ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น และจะมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยมากกว่า 35 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูร้อน โดยในวันที่อากาศร้อนสุดขีดจะเกิดบ่อยขึ้น ฤดูร้อนยาวนานขึ้น ส่วนฤดูหนาวจะหนาวน้อยลงและมีระยะเวลาสั้นลง เมื่อเกิดพายุหรือฝนตกก็จะตกอย่างหนัก และลมพัดรุนแรงขึ้นในแต่ละครั้ง แต่จำนวนครั้งที่เกิดฝนจะลดน้อยลงและเกิดภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น
เห็นมั้ยครับว่าภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก ๆ นะครับ เพราะทุกสิ่งบนโลกใบนี้ ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นี่เองจึงเป็นเหตุผลที่ ทุกคนบนโลกใบนี้ควรเริ่มตระหนัก และเข้าใจถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะปัญหาภาวะโลกร้อน ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากเราทุกคนเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ ก็อาจช่วย พวกผม (หมีขาว) และทุกสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ให้เป็นโลกที่เย็นลงด้วยกันนะครับ
อ้างอิง
- ศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). (2561). คู่มือสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society Guidebook). (พิมพ์ครั้งที่ 4). บริษัท ปารวี พริ้นติ้ง จำกัด
- https://www.climatewatchdata.org/countries/THA
- https://www.facebook.com/GreenstyleSE/videos/1376711749171168/?eid=ARDpNEP6Hrt-jrfZ1VluXacFGETuyDFJt0iOd3iocZceNNfR3uq29G-32kpVxtcGtogpWovL3C_XVPjaVideo Clip : Brut Source Nasa. Journalist : Adeline Beilleul และ Video Editor: Darlena Chiem
- https://www.facebook.com/GreenstyleSE/photos/a.551150184905486/3029682700385543/?type=3&theater
- https://www.facebook.com/GreenstyleSE/photos/a.551150184905486/3029693793717767/?type=3&theater
- https://www.facebook.com/GreenstyleSE/posts/3015764268444053?__tn__=K-R
- https://www.facebook.com/GreenstyleSE/posts/3013301565356990?__tn__=K-R
- https://www.facebook.com/GreenstyleSE/photos/a.551150184905486/2976869639000183/?type=3&theater
- Schroeder, J., Coyne, C., Farndon, J., Harris, T., Harvey, D., Jackson, T. and Singer, A. (2019). The Ecology Book. (First Published). London: Dorling Kindersley Limited.
- https://www.facebook.com/GreenstyleSE/?eid=ARDpNEP6Hrt-jrfZ1VluXacFGETuyDFJt0iOd3iocZceNNfR3uq29G-32kpVxtcGtogpWovL3C_XVPja
- https://www.catdumb.tv/locust-plague-devastates-313/?fbclid=IwAR3Twn8EuB_Ld1nLlCcru7jT3HUd1orbYHriioLtMotRTkLLE-5VZEieC-s
- https://www.facebook.com/GreenstyleSE/posts/2788504967836652?__tn__=K-R