มาทำความรู้จักก๊าซเรือนกระจกกันเถอะ

โลกที่เราทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกันนี้ ถือเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของทุกชีวิต แต่ปัจจุบันโลกของเรากำลังอุ่นขึ้น อุ่นขึ้น ทำให้บ้านของพวกผม (หมีขาว) ที่เป็นน้ำแข็งละลายเร็วขึ้นๆ ตามไปด้วย สาเหตุหลักนั้นเกิดจาก ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินไปนั่นเอง  ซึ่งก๊าซเรือนกระจกนี้ มีทั้งก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเกิดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ แล้วก๊าซเรือนกระจกนี้มีอะไรบ้าง และเกิดจากไหนกันบ้างนะ มาติดตามไปด้วยกันนะครับ

ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มีทั้ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ ไอน้ำ โอโซน และก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (สารซีเอฟซี) แต่ในปัจจุบันนี้พบว่า ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเกินไป จนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศบนโลกใบนี้อย่างมาก จึงนำไปสู่การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) นั่นเอง โดยมีการกำหนดควบคุมก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ (Anthropogenic greenhouse gas emission) ที่สำคัญ 7 ชนิด คือ

คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide): CO

                        เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศและมีอิทธิพลต่อการเกิดการสะสมพลังงานความร้อนในชั้นบรรยากาศมากที่สุด เนื่องจากเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ปริมาณมาก และสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันมนุษย์กลายมาเป็นตัวการหลักในการสร้างและปล่อย CO2  ซึ่งเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล  เช่น การเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นพลังงาน  นอกจากนี้การตัดไม้ทำลายป่า ยังเป็นสาเหตุให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย

มีเทน (Methane): CH4

                        เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากเป็นลำดับที่ 2 เป็นก๊าซที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ร้อยละ 60 ในบรรยากาศเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทิ้งขยะด้วยวิธีฝังกลบ การทำฟาร์มปศุสัตว์ มูลสัตว์ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการทำเกษตรกรรม การบำบัดน้ำเสีย และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากถึง 25 เท่า

ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide): N2O

          เป็นก๊าซอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า ฟ้าแลบ ภูเขาไฟระเบิด รวมถึงการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ แต่ในช่วงยุคอุตสาหกรรม มนุษย์ได้เพิ่มก๊าซชนิดนี้เข้าไปอีกประมาณร้อยละ 17 จากอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริกในกระบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมเคมี พลาสติกบางชนิด การใช้ปุ๋ย การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งการเผาป่า ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 298 เท่า

กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs)

            เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น ใช้ในระบบทำความเย็นต่าง ๆ และเป็นสารที่ถูกนำมาใช้แทนก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) ซึ่งเป็นสารที่ใช้อยู่ในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น สเปรย์ และน้ำยาดับเพลิง มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนที่สูงมาก และทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 124 ถึง 14,800 เท่า

กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) 

            เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยถูกใช้เป็นตัวทำละลายและสารตั้งต้นในการผลิต รวมถึงผลผลิตพลอยได้จากกระบวนการต่าง ๆ จากภาคอุตสาหกรรม เช่น การถลุงอะลูมิเนียม การผลิตสารกึ่งตัวนำ มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนที่สูงมาก และทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 7,390 ถึง 12,200 เท่า

ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulfur hexafluoride) : SF6

            เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ มีคุณสมบัติไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายในตัวทำละลาย นิยมใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์  นำมาใช้เพื่อเป็นฉนวนไฟฟ้าป้องกันการเกิดประกายไฟจากอุปกรณ์สวิทช์ไฟฟ้าแรงสูง หรือช่วยในการระบายความร้อนจากอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง เช่น สวิตช์เกียร์ ซึ่ง SF6 สามารถส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 22,800 เท่า

ไนโตรเจน ไตรฟลูออไรด์ (Nitrogen trifluoride) :NF3 

          เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ อยู่ในกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์หรือวงจรขนาดเล็ก สามารถส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 17,200 เท่า

5

 

จากข้อมูลก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ข้างต้น ทุกคนจะเห็นได้นะครับ ว่าก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์และมีความสำคัญต่อโลกของเรา แต่สิ่งที่พวกเราควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นให้มาก นั่นก็คือเรื่องของปริมาณการปล่อยว่า เราควรปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ระดับไหน ถึงจะสร้างผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เพื่อลดความรุนแรงและชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในอนาคตได้

 และในบทต่อไป พวกเรา (หมีขาว) จะมาเล่าให้ฟังนะครับว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั่วโลกนั้นเป็นอย่างไร มีปริมาณเท่าไหร่ ประเทศไหนปล่อยมากที่สุด แล้วประเทศไทยอยู่อันดับที่เท่าไหร่

รอติดตามกันนะครับ...

อ้างอิง